Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 พฤศจิกายน 2550

อุตสาหกรรม

แนวโน้มอาหารเสริมสุขภาพปี’51 : ปรับพฤติกรรมรับภาวะค่าครองชีพ (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2065)

คะแนนเฉลี่ย
ตลาดอาหารเสริมสุขภาพในประเทศไทยนับว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะชะลอตัวก็ตาม แต่ก็ส่งผลกระทบต่อตลาดอาหารเสริมสุขภาพโดยรวมไม่มากนัก เนื่องจากปัจจัยหนุนที่สำคัญคือ กระแสการรักษาสุขภาพเชิงป้องกัน แม้จะยังไม่มีข้อสรุปทางการแพทย์อย่างชัดเจนแต่ผู้บริโภคมีความเชื่อว่าการบริโภคอาหารเสริมสุขภาพเป็นปัจจัยหนึ่งในการทำให้ร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บป่วย ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล รวมทั้งการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ความกดดันจากสภาพเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคในปัจจุบันให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพมากขึ้น และยินดีลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งสุขภาพที่ดี
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ ;พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯ” พบประเด็นการเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ สืบเนื่องจากปัญหาราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สินค้าและบริการต่างๆมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต้องหาทางประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น ผลการสำรวจระบุว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมีการปรับพฤติกรรม โดยร้อยละ 25.7 ของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเปลี่ยนมาบริโภคอาหารเสริมสุขภาพที่ผลิตในประเทศทดแทนการบริโภคอาหารเสริมสุขภาพที่ผลิตในต่างประเทศที่มีราคาแพง และร้อยละ 12.6 ลด/งดการบริโภคอาหารเสริมสุขภาพ
ผลต่อเนื่องจากการที่คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเน้นการประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพนับว่าเป็นโอกาสในการขยายตลาดของอาหารเสริมสุขภาพที่ผลิตในประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีการปรับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพในแง่ของบรรจุภัณฑ์ และความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ โดยเน้นถึงการผ่านการรับรองขององค์การอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กล่าวคือ คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างหันมาใช้ยาสมุนไพรทดแทนการบริโภคยาแผนปัจจุบัน นับว่าเป็นปัจจัยหนุนของยอดการบริโภคยาสมุนไพร จากเดิมที่ปัจจัยหนุนให้ยาสมุนไพรเป็นที่สนใจเป็นประเด็นในเรื่องยาที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติไม่ใช่เคมีสังเคราะห์ นอกจากนี้ผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นๆ โดยเฉพาะอาหารเสริมสุขภาพจากผลิตภัณฑ์สมุนไพร เนื่องจากผู้บริโภคส่วนหนึ่งมีความเชื่อว่าการบริโภคอาหารเสริมสุขภาพจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย นับว่าเป็นการรักษาสุขภาพเชิงป้องกัน เนื่องจากคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเล็งเห็นว่าจะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าเมื่อต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพไม่ควรมองข้ามคือ กลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้มากกว่า 50,000 บาทต่อเดือน(กลุ่มบีบวก)ไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการบริโภคอาหารเสริมสุขภาพ และยังคงเลือกบริโภคอาหารเสริมสุขภาพที่ผลิตจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพโดยรวมปี 2551 จะมีมูลค่าประมาณ 18,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับในปี 2550 ซึ่งนับว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่ใกล้เคียงกับในปี 2550 โดยแยกสัดส่วนตลาดเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงร่างกายชนิดเครื่องดื่มหรือชนิดน้ำร้อยละ 42.0 ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทั่วไป(ทั้งชนิดเม็ดและผง ไม่รวมวิตามิน)ร้อยละ 35.0 กลุ่มวิตามินร้อยละ 16.0 และกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับเด็กร้อยละ 7.0 ซึ่งตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทั่วไปและกลุ่มวิตามินนั้นมีแนวโน้มการเติบโตอยู่ในเกณฑ์สูง และมีการแข่งขันรุนแรง รวมทั้งบรรดาผู้ประกอบการของอาหารเสริมสุขภาพทั้งสองกลุ่มนี้ยังมีการจัดกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ทั้งนี้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายตามอายุ และลักษณะการใช้ชีวิตของลูกค้าแต่ละกลุ่ม
คาดว่าอนาคตธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพในประเทศไทยยังคงขยายตัวได้ในช่วงระยะ 3-5 ปีต่อไป เนื่องจากคนไทยหันมาให้ความใส่ใจด้านสุขภาพอนามัยมากขึ้น ทำให้คนไทยมีการใช้จ่ายในเรื่องที่เกี่ยวกับการป้องกันและรักษาสุขภาพให้แข็งแรงมากขึ้น โดยคนไทยบางส่วนเชื่อว่าการบริโภคอาหารเสริมสุขภาพเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ดังนั้นตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพจะยังคงมีการขยายตัวทั้งในแง่ของผลิตภัณฑ์และบริษัทรายใหม่ที่ทยอยเข้ามาในตลาด ซึ่งนับว่าเป็นผลดีกับผู้บริโภค เนื่องจากการแข่งขันจะทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะด้านคุณภาพ มาตรฐานของสินค้าและราคาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
แนวโน้มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพในตลาดโลกที่จะกระตุ้นการขยายตัวให้รวดเร็วยิ่งขึ้นคือ อาหารเสริมสุขภาพที่มีคุณสมบัติเป็นยา(Nutraceutical) นับว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และท้าทายให้ประเทศต่างๆที่มีศักยภาพด้านการผลิต รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาอาหารเสริมสุขภาพประเภทนี้ ต่างเร่งพัฒนาขีดความสามารถเพื่อรองรับตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวโดยตลาดหลักคือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป นอกจากนี้ จากการศึกษาถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงระเบียบกฎเกณฑ์ ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของประชากร และการศึกษาถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพที่มีแนวโน้มเติบโตในระยะ 5 ปีข้างหน้า คือ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพเฉพาะประเภท (Specialty Supplements) ในขณะที่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพแบบเดิมจะมีแนวโน้มเติบโตไม่สูงมากนัก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแร่ธาตุ วิตามิน ผลิตภัณฑ์สมุนไพร Sport Nutrition คาดว่าแนวโน้มนี้ก็จะเข้ามาเป็นกระแสหลักในอนาคตของประเทศไทยที่จะผลักดันการขยายตัวของธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม