อุตสาหกรรมปิโตรเคมีถือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐาน (Base Industry) ที่มีความสำคัญมากอุตสาหกรรมหนึ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างกว้างขวาง อาทิ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมสิ่งทอ ชิ้นส่วนรถยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ก่อสร้าง รวมไปถึงปุ๋ยในอุตสาหกรรมเกษตร นอกจากนั้นยังเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูง และก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกจำนวนมาก
จากแนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศไทยที่เฟื่องฟูสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 ถึงช่วงกลางปี 2549 และเริ่มชะลอตัวเข้าสู่วัฎจักรขาลงตั้งแต่ปลายปี 2549 เป็นต้นมา บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปีหน้าแม้ว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวทั้งจากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวโดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศจีนและญี่ปุ่นจากการเลื่อนเปิดดำเนินการโครงการผลิตปิโตรเคมีหลายโครงการในประเทศจีน และการเริ่มดำเนินความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA) แต่ยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีภายในประเทศที่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยแม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศในปีหน้าน่าที่จะมีความแน่นอนมากขึ้นภายหลังการเลือกตั้งในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้อุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในประเทศเพิ่มขึ้น แต่เสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องก็อาจจะกระทบต่ออุปสงค์ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีภายในประเทศให้ลดลง ในขณะเดียวกันภาวะอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีในตลาดโลกที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก และอุปทานผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากการขยายกำลังการผลิตในระดับต่างๆ อย่างต่อเนื่องของแต่ละประเทศ รวมถึงค่าเงินบาทที่ยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ก็อาจจะส่งผลให้การแข่งขันมีความรุนแรงและยากลำบากมากขึ้นทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรเร่งปรับตัวด้วยการขยายการผลิตให้สามารถผลิตให้ครบวงจรมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตจากการซื้อวัตถุดิบที่มีแนวโน้มราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตในสัดส่วนที่สูงมากกว่าร้อยละ 70 และยังเป็นการลดความเสี่ยงแก่ผู้ประกอบการในแต่ละช่วงเวลาด้วยการเคลื่อนย้ายการผลิตไปยังผลิตภัณฑ์อื่นที่มีแนวโน้มราคาที่ดีกว่าได้
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น