ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2550 โรงงานน้ำตาลจะเริ่มเดินเครื่องจักรเปิดหีบอ้อยของฤดูการผลิตปี 2550/51 ซึ่งในปีนี้ผลผลิตอ้อยทั่วประเทศคาดว่าจะมีสูงถึงประมาณ 70 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับฤดูการผลิตปีก่อนที่ผลผลิตอ้อยมีทั้งสิ้น 63.8 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวก็ไม่อาจช่วยให้ชาวไร่อ้อยสบายใจนัก ทั้งนี้เนื่องจาก ราคาอ้อยขั้นต้นที่ภาครัฐคำนวณได้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 600 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตที่ผ่านมาที่อยู่ในระดับ 800 บาทต่อตันอ้อยถึงตันละ 200 บาท และถือเป็นราคาอ้อยขั้นต้นที่ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปีนับตั้งแต่ฤดูการผลิตปี 2548/49 เป็นต้นมา ในขณะที่ชาวไร่อ้อยนั้นต้องการให้ภาครัฐเข้ามากำหนดราคาอ้อยขั้นต้นในระดับที่ไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตคือประมาณ 800 บาทต่อตันอ้อย มิเช่นนั้นชาวไร่อ้อยจะขาดทุนประมาณ 200 บาทต่อตันหรือคิดเป็นการขาดทุนทั้งระบบประมาณ 14,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนับเป็นสิ่งที่สร้างความหนักใจให้กับภาครัฐเป็นอย่างมาก เนื่องเพราะผลจากการเข้าพยุงราคาอ้อยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นหนี้เงินกู้กับสถาบันการเงินที่ต้องผ่อนชำระในช่วงปี 2550-2555 รวมเงินต้นและดอกเบี้ยถึงประมาณ 14,500 ล้านบาท และหากในครั้งนี้ภาครัฐตัดสินใจเข้าช่วยเหลือจะต้องใช้งบประมาณอีกถึง 14,000 ล้านบาท ซึ่งก็มิใช่เรื่องง่ายที่จะหาเงินกู้ดังกล่าว เนื่องจากสถาบันการเงินยังกังวลถึงความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ ดังนั้นจึงคาดว่า ปัจจัยดังกล่าวจะนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับชาวไร่อ้อยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง หากว่าภาครัฐไม่สามารถเสนอแผนช่วยเหลือเบื้องต้นที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น