Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 ธันวาคม 2550

การค้า

กติกาใหม่ของการจัดทำ FTA : ความท้าทายของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2011)

คะแนนเฉลี่ย

มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 2550 เป็นกรอบกติกาใหม่ที่สร้างความท้าทายให้กับรัฐบาลในการดำเนินการเจรจาจัดทำความตกลง FTA ทุกระดับ ที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อกลุ่มคนทุกภาคส่วนของสังคมจากการเจรจาเปิดเสรี FTA และต้องคำนึงถึงขั้นตอนการนำเสนอกรอบการเจรจา FTA เพื่อขออนุมัติต่อรัฐสภาทั้งก่อนการเจรจาและหลังการเจรจาด้วย จากก่อนหน้านี้ที่ไม่ได้มีข้อกำหนดการเสนอขออนุมัติจากรัฐสภาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับก่อน ทำให้การดำเนินงานด้านการเจรจาจัดทำ FTA ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ของรัฐบาล ต้องพิจารณาถึงผลกระทบรอบด้านที่จะเกิดขึ้นภายในประเทศอย่างถี่ถ้วนมากขึ้น นอกเหนือจากการเจรจาต่อรองกับประเทศคู่เจรจา FTA เพื่อขยายตลาดส่งออกสินค้า บริการและการลงทุนในตลาดคู่ค้า FTA

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า รัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งควรสร้างกลไกการดำเนินงานด้านการเจรจาจัดทำความตกลง FTA ให้มีประสิทธิภาพตามกรอบรัฐธรรมนูญใหม่ ที่สำคัญ ได้แก่ กระบวนการให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งควรดำเนินการอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกๆ ภาคส่วนของสังคม ซึ่งหากกระบวนการให้ข้อมูลและรับฟังความเห็นของประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพก็น่าที่จะเป็นประโยชน์กับภาครัฐในการนำข้อมูลที่ครบถ้วนและเพียงพอไปเจรจากับคู่เจรจา FTA และยังเป็นผลดีกับรัฐบาลในขั้นตอนการนำเสนอขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาด้วย เนื่องจากการพิจารณาของรัฐสภาคำนึงถึงผลของความตกลง FTA ที่เกิดกับทุกภาคส่วนของสังคม ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น

กระบวนการเจรจาจัดทำความตกลง FTA ของไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้การจัดทำ FTA ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาและมีความสำคัญต่อการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยในเวทีโลก สามารถดำเนินการต่อไปได้ ที่สำคัญ ได้แก่ การเจรจา FTA ในกรอบอาเซียนกับญี่ปุ่นที่มีกำหนดลงนามความตกลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 และอาเซียนกับสหภาพยุโรป ที่มีการกำหนดเป้าหมายเริ่มการเจรจาจัดทำ FTA ในเดือนเมษายน 2551 ซึ่งขณะนี้ทางการไทยได้เสนอกรอบการเจรจา FTA ของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ต่อ ครม. แล้ว และอยู่ในกระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำหรับการจัดทำ FTA ในระดับทวิภาคีของไทยที่อยู่ระหว่างเจรจาและมีความสำคัญต่อไทย ที่สำคัญ เช่น FTA ไทย-อินเดีย และ FTA ไทย-สหรัฐฯ

นอกจากความมีประสิทธิภาพของกระบวนการเจรจาจัดทำ FTA ภายใต้ข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การดำเนินการเจรจาจัดทำ FTA ของไทยเกิดผลสำเร็จ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า มาตรการภายในประเทศเพื่อรองรับการจัดทำ FTA ของไทย ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อกลุ่มคนภายในประเทศ เป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้ง ควรให้ความสำคัญ และเร่งการดำเนินการใช้มาตรการเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพและให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อรองรับความตกลง FTA ของไทยที่มีผลบังคับใช้แล้ว รวมถึง FTA ที่อยู่ระหว่างดำเนินการเจรจาด้วย ได้แก่ (1) การเร่งรัดดำเนินการกองทุน FTA ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย (2) การบังคับใช้มาตรการปกป้องฉุกเฉิน (Safeguard) อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างกลไกในการลดผลกระทบจากการไหลทะลักของสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการเปิดเสรี FTA และ(3) การจัดทำมาตรฐานสินค้าของไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของสินค้าไทย ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าจากมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barrier : NTBs) ของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป นอกจากนี้ การจัดทำมาตรฐานสินค้าของไทยยังช่วยสกัดกั้นสินค้านำเข้าราคาถูกที่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคภายในประเทศด้วย

สำหรับความตกลง FTA ของไทยกับประเทศต่างๆ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว แม้ไทยได้ประโยชน์จากการจัดทำความตกลง FTA ดังกล่าว ได้แก่ FTA ทวิภาคีกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน อินเดีย (เริ่มบางรายการ) และญี่ปุ่น แต่มีแนวโน้มที่ผลประโยชน์ที่ไทยได้รับคงมีระยะเวลาไม่นานนัก เนื่องจากประเทศคู่ค้า FTA ดังกล่าวต่างดำเนินนโยบายจัดทำความตกลง FTA ทั้งระดับทวิภาคีและภูมิภาค เพื่อขยายตลาดการค้าสินค้า ภาคบริการ และการลงทุนไปทั่วโลก เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน ทำให้สินค้าและบริการของประเทศต่างๆ เข้าสู่ประเทศคู่ค้า FTA ของไทยได้สะดวกขึ้น คาดว่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2551-2553) สินค้าส่งออกไทยที่ได้ประโยชน์จากการเข้าสู่ตลาดประเทศที่จัดทำความตกลง FTA ในปัจจุบันนี้ จะต้องแข่งขันกับสินค้าคู่แข่งที่ได้ประโยชน์จากการจัดทำ FTA กับประเทศคู่ค้า FTA ของไทยเช่นกัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า

FTA