Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 มกราคม 2551

เกษตรกรรม

ปาล์มน้ำมัน: อุปสงค์เพิ่มจากการบริโภคและไบโอดีเซล...กดดันให้ราคาวัตถุดิบสูง (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2031)

คะแนนเฉลี่ย

จากการที่ครม. มีมติเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา อนุมัติให้นำเข้าน้ำมันปาล์มโอเลอินดิบ (Crude Palm Olein) ปริมาณ 30,000 ตัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ผลิตน้ำมันพืช โรงงานผลิตไบโอดีเซล และผู้บริโภคน้ำมันพืช รวมทั้งแก้ปัญหาการสต็อกสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติจากความตื่นตระหนกและความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การขาดแคลนน้ำมันพืชเพื่อการบริโภคในร้านจำหน่ายปลีกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปีจนถึงช่วงต้นปีที่ผ่านมา จากมาตรการผ่อนคลายการนำเข้าดังกล่าว ส่งผลให้ปัจจุบันสถานการณ์อุปทานน้ำมันปาล์มเริ่มผ่อนคลายลง ทำให้กระทรวงพลังงานยืนยันการบังคับใช้น้ำมันไบโอดีเซล B2 ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 จากเดิมผ่อนผันให้ใช้ในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยให้คงสัดส่วนการผสมน้ำมันดีเซลกับไบโอดีเซลบริสุทธิ์หรือ B100 อยู่ที่ร้อยละ 1.5-2 อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้อนุมัติให้มีการปรับราคาน้ำมันปาล์มตามต้นทุนวัตถุดิบได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดสูงกว่าราคาน้ำมันถั่วเหลืองเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี

ทั้งนี้จากมาตรการแก้ปัญหาของภาครัฐดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดการบริหารความสมดุลระหว่างความต้องการใช้ไบโอดีเซลและอุปทานของน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภค ในขณะที่ปัจจุบันปาล์มน้ำมันเข้ามามีบทบาทในฐานะพืชพลังงานเพื่อนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซลมากขึ้น ส่งผลให้ทั่วโลกรวมทั้งไทยเองมีความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันขยายตัว จากการที่สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับสูง กอปรกับเป็นช่วงปลายฤดูกาลผลิตปาล์มน้ำมันทำให้เกิดปัญหาการแย่งกันซื้อวัตถุดิบผลปาล์มระหว่างผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากน้ำมันปาล์มกับโรงงานผลิตไบโอดีเซล รวมทั้งผู้ผลิตหันไปผลิตน้ำมันบรรจุปี๊ปแทนการผลิตแบบบรรจุขวด ทำให้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันพืช ผู้ผลิตต้องแบกภาระราคาปาล์มน้ำมันสูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น จนต้องเรียกร้องขอปรับขึ้นราคาน้ำมันพืชบรรจุขวดดังกล่าว

แม้ว่า การอนุมัตินำเข้าน้ำมันปาล์มดิบในช่วงที่ขาดแคลนนั้นจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เหมาะสม แต่จากการที่ปัญหาปาล์มน้ำมันได้ทวีความสำคัญขึ้นตามลำดับ และได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิตในภาคเกษตร การบริโภคอุปโภคสินค้าที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบ ตลอดจนด้านนโยบายพลังงานของประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงพาณิชย์ ควรเร่งดำเนินการวางกรอบแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มแบบบูรณาการโดยประสานข้อมูลและการดำเนินงานระหว่าง 3 กระทรวงอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะวางแผนความต้องการใช้น้ำมันปาล์มกับปริมาณผลผลิตให้สอดคล้องกันเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น ปานกลางและระยะยาวอย่างเหมาะสมต่อไป โดยอาจจะต้องครอบคลุมถึงประเด็นในเรื่องการขยายพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งประเด็นผลกระทบจากการเปิดเสรีตามภาระผูกพันที่ประเทศไทยมีตามข้อตกลง AFTA และ WTO

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม