Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 มีนาคม 2551

เกษตรกรรม

ธุรกิจสุกร : มาตรการตรึงราคา...ผลกระทบและแนวโน้มในอนาคต (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2051)

คะแนนเฉลี่ย

กระทรวงพาณิชย์ประกาศตรึงราคาหมูเนื้อแดงในบางพื้นที่ในราคากิโลกรัมละ 98 บาทเป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2551 ทั้งนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากการที่ราคาเนื้อหมูมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงกิโลกรัมละ 120 บาท ซึ่งมาตรการของรัฐบาลนับว่าเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ก็ส่งผลกระทบต่อตลาดสุกรทั้งผู้เลี้ยงหมู และเขียงหมู โดยรายย่อยจะได้รับผลกระทบมากกว่ารายใหญ่ ประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไป คือ ในเดือนพฤษภาคม 2551 หลังมาตรการตรึงราคาของรัฐบาลแล้วราคาของหมูน่าจะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อไป เนื่องจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นแนวทางที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการในระหว่างการตรึงราคาคือ การลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะกากถั่วเหลือง เนื่องจากเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตสุกร การปรับสูตรการคำนวณราคาหมูเนื้อแดงที่อิงกับราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มใหม่เพื่อความเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสุกรทุกฝ่าย ตลอดจนถึงผู้บริโภคด้วย

อย่างไรก็ตามทั้งรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการหมูทุกขั้นตอนควรจะถือว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงระยะ 2-3 ปีนี้เป็นบทเรียนสำคัญ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยนั้นได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากมีอำนาจในการต่อรองน้อย ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่นั้นสามารถปรับตัวรับกับสถานการณ์ได้ดีกว่า เนื่องจากมีอำนาจในการต่อรองที่ดีกว่า และมีการประหยัดเนื่องจากขนาดของธุรกิจ รวมทั้งยังมีการดำเนินการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะระบบการควบคุมการผลิตที่ถูกสุขอนามัย ทำให้โอกาสในการเกิดความเสียหายจากการเกิดโรคระบาดลดลง ดังนั้นหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนในทุกระดับในวงการเลี้ยงหมูคงต้องหันมาร่วมมือกันเพื่อพัฒนาธุรกิจการเลี้ยงสุกรเพื่อความอยู่รอดร่วมกันทั้งรายย่อยและรายใหญ่ในระยะยาว โดยต้องมีการยกระดับมาตรฐานธุรกิจสุกรตลอดสายการผลิตให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะเป็นการเปิดตลาดส่งออกสุกรและผลิตภัณฑ์ของประเทศไทย โดยตลาดส่งออกนี้จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจการผลิตสุกร และยังเป็นแนวทางสำคัญที่จะลดความผันผวนของราคาสุกรในประเทศ ดังเช่นที่ธุรกิจการเลี้ยงไก่เนื้อประสบความสำเร็จมาแล้ว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม