ผลิตภัณฑ์เครื่องหนังและรองเท้านั้นถือเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความต้องการเป็นไปตามการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมเป็นสำคัญ และเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงตลาดส่งออกนำรายได้เข้าประเทศตลอดมา จึงทำให้ปัจจัยความผันผวนของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมหลายด้านด้วยกัน ทั้งอำนาจซื้อของผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศ ต้นทุนการผลิต ต้นทุนค่าขนส่ง ราคาจำหน่าย และรายได้ของผู้ประกอบการ โดยที่ผ่านมามีการผลิตเพื่อส่งออกเป็นสัดส่วนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาดรวม และมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยมีสหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เป็นประเทศผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องหนังและรองเท้ารายใหญ่ของโลกและเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งมีอำนาจซื้อสูงเมื่อเปรียบ เทียบกับประเทศในภูมิภาคอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในปี 2550 ที่ผ่านมาการนำเข้าเครื่องหนังและรองเท้าของสหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นมีอัตราการขยายตัวลดลงจากปีก่อนสาเหตุจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ทำให้อัตราการนำเข้าของประเทศมหาอำนาจเหล่านี้มีอัตราที่ชะลอตัวลงตาม ส่วนในด้านการผลิตนั้นอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้ามีความจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบเข้ามาผลิตเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 - 60 ของต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตทำให้การเปลี่ยนแปลงของค่าอัตราแลกเปลี่ยนย่อมกระทบต่อต้นทุนการผลิตผ่านการนำเข้าวัตถุดิบ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสภาวะการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าของไทยผ่านการเปลี่ยนแปลงของการขยายตัวของตลาดนำเข้าหลักและค่าอัตราแลกเปลี่ยน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยขอสรุปและเสนอข้อคิดเห็นว่า ผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐตามที่ธนาคารกลางสหรัฐได้ปรับประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐลงเหลือร้อยละ 1.3 - 2.0 ถือเป็นความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศไทย โดยผ่านปัจจัยด้านการลดลงของอุปสงค์ของสหรัฐซึ่งมีแนวโน้มทำให้สหรัฐจะนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยลดลง โดยที่การลดลงของการเติบโต GDP สหรัฐในปี 2550 ที่ผ่านมาที่อัตราร้อยละ -0.7 มีส่วนส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าเครื่องหนังและรองเท้าสหรัฐขยายตัวลดลงร้อยละ -2.7 และ -5.5 ตามลำดับ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐส่งผลให้ไทยต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามมาซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการด้านต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง แต่ในอีกทางหนึ่งกลับส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียและของไทยแข็งค่าขึ้นซึ่งส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าที่ลดลง แต่ก็ส่งผลเสียต่อการรับรู้รายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกและรับจ้างผลิตเช่นกัน นอกจากนั้น ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับสูงและมีความผันผวนมาก ทำให้ต้นทุนการผลิต ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้นตาม และก่อให้เกิดการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อส่งผลทำให้ราคาสินค้าทั่วไปและราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้นตาม เป็นการลดอำนาจซื้อของผู้ซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในปีนี้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าต้องคอยติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจสหรัฐ อันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินและปริมาณการค้าโลก โดยเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจสหรัฐในระดับสูง ผู้ประกอบการที่มีสัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐในอัตราสูงควรกระจายความเสี่ยงด้านการตลาด ลดการพึ่งพิงตลาดสหรัฐและพยายามขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ที่เศรษฐกิจยังมีการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ดี อาทิ จีน รัสเซีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกาใต้ เป็นต้น และมีแนวโน้มการนำเข้าเครื่องหนังและรองเท้าในอัตราสูง ซึ่งผู้ประกอบการไทยยังมีการส่งออกไปยังประเทศเหล่านั้นเป็นสัดส่วนน้อย นอกจากนั้น ผู้ประกอบการควรปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นทั้งความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การแข็งค่าของเงินบาท และความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งผู้ประกอบการควรต้องติดตามสถานการณ์เพื่อสามารถปรับตัวตั้งรับด้านการบริหารต้นทุนการผลิตและสต๊อกสินค้า ปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ ตลอดจนการป้องกันความเสี่ยงทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนควบคู่กันไปด้วย
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น