Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 มีนาคม 2551

การค้า

สร้างการยอมรับตรามาตรฐานฮาลาลไทย : เสริมโอกาสส่งออกอาหารฮาลาล & รองรับตลาดมุสลิมขยายตัว (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2121)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกอาหารฮาลาลของไทยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) ตลาดมุสลิมของโลกที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องจากจำนวนประชากรมุสลิมที่เพิ่มขึ้นและกำลังซื้อของคนมุสลิมโดยเฉพาะประเทศในตะวันออกกลางที่สูงขึ้นจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของการส่งออกน้ำมันที่ราคาอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งความนิยมอาหารฮาลาลที่ขยายมาสู่กลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ใช่คนมุสลิมในประเทศต่างๆ ซึ่งหันมาเน้นบริโภคอาหารที่เน้นอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น รวมทั้ง (2) ปัจจัยสนับสนุนการส่งออกอาหาร ฮาลาลจากการที่ไทยเป็นประเทศที่มีวัตถุดิบอาหารในประเทศและเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารสุทธิเป็นอันดับต้นๆ ของโลกที่มีประสบการณ์ด้านการผลิตอาหารและได้รับการยอมรับในตลาดโลก

ตลาดส่งออกอาหารฮาลาลของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี ได้แก่

- ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดตะวันออกกลางโดยเฉพาะกลุ่มประเทศอ่าว (Gulf Cooperation Council : GCC)[1] ถือเป็นกลุ่มประเทศมุสลิมที่มีรายได้สูง ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย

- ตลาดอาเซียน – ประเทศอาเซียนที่มีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่มาก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน โดยเฉพาะอินโดนีเซียถือเป็นตลาดส่งออกอาหารฮาลาลที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นประเทศมุสลิมที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ความต้องการบริโภคสินค้าที่ได้รับการรับรองฮาลาลมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประชากรชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อมีจำนวนราว 20 ล้านคน

- ตลาดประเทศที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิม - ประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม (Non-Muslim Countries) แต่มีคนมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากก็ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพของการส่งออกอาหารฮาลาลเช่นกัน เช่น ประเทศอินเดียมีชาวมุสลิมมากถึง 140 ล้านคน ประเทศจีนมีชาวจีนที่นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 40 ล้านคน สหรัฐอเมริกามีผู้นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 8 ล้านคน แม้คนมุสลิมในสหรัฐฯ มีจำนวนไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรชาวมุสลิมทั้งโลก แต่อำนาจซื้อของชาวอเมริกันที่นับถือศาสนาอิสลามค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ตาม สิ่งท้าทายการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยที่ภาครัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนควรร่วมมือกันพัฒนาให้มีประสิทธิภาพอย่างจริงจัง ได้แก่ การสร้างตรารับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลของไทยให้ได้รับการยอมรับและความน่าเชื่อถือในตลาดโลก รวมทั้งสิ่งท้าทายจากการแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลในตลาดโลกที่ปัจจุบันหลายประเทศเล็งเห็นถึงศักยภาพของโอกาสในการขยายการส่งออกอาหารฮาลาล เช่น ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างมาเลเซีย



[1] ประกอบด้วย 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต บาห์เรน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และโอมาน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า