Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 มีนาคม 2551

การค้า

ผลการเลือกตั้งมาเลเซีย.......อาจกระทบไทยผ่านการท่องเที่ยวและการค้าชายแดน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2122)

คะแนนเฉลี่ย

แม้ผลการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ของมาเลเซียที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2551 ทำให้กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติซึ่งมีพรรคอัมโนเป็นแกนนำสามารถรวบรวมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ แต่นับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 40 ปีที่กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติมีคะแนนเสียงน้อยกว่า 2 ใน 3 หรือประมาณร้อยละ 62 ของที่นั่งทั้งหมดในรัฐสภา ทำให้รัฐบาลอาจจะไม่สามารถยื่นขอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ต้องอาศัยเสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด ซึ่งผลการเลือกตั้งของมาเลเซียครั้งนี้อาจทำให้สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศเพิ่มขึ้น

ผลการเลือกตั้งของมาเลเซียในครั้งนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของมาเลเซียนอกเหนือจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ผลการเลือกตั้งของมาเลเซียที่ทำให้เศรษฐกิจมาเลเซียมีแนวโน้มชะลอตัวลงอาจจะส่งผลต่อไทย ดังนี้

การค้าชายแดน: การค้าชายแดนของไทยกับมาเลเซียมีสัดส่วนร้อยละ 30-40 ของการค้าระหว่างประเทศของไทยกับมาเลเซียและไทยเป็นฝ่ายเกินดุลกับมาเลเซีย โดยมาเลเซียเป็นประเทศคู่ค้าชายแดนรายใหญ่ที่สุดของไทย การค้าชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียกว่าร้อยละ 95 เกิดขึ้นในจังหวัดสงขลาที่มีชายแดนติดกับรัฐปะลิสที่บริหารโดยฝ่ายรัฐบาลมาเลเซียจึงไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการค้ากับไทย สำหรับการเปลี่ยนอำนาจการบริหารรัฐที่มีชายแดนติดอยู่กับไทย จากพรรครัฐบาลไปสู่พรรคฝ่ายค้านในรัฐเคดาห์ รัฐเปรัคและรัฐกลันตัน อาจส่งผลต่อการค้าชายแดนไทยกับมาเลเซียจึงควรติดตามนโยบายของรัฐดังกล่าวต่อไป

การท่องเที่ยว: ชาวมาเลเซียเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยสูงที่สุดโดยเฉพาะในแถบจังหวัดชายแดน ผลการเลือกตั้งของมาเลเซียในครั้งนี้ อาจส่งผลต่อการเข้ามาท่องเที่ยวของชาวมาเลเซียในประเทศไทยอยู่บ้าง เพราะในระยะสั้นความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจทำให้คนมาเลเซียลดการจับจ่ายใช้สอยลง แต่การดำเนินนโยบายเพื่อการใช้จ่ายภาคบริการทางสังคมควบคู่กับชะลอมาตรการลดการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศก็จะเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจและช่วยกระตุ้นให้ระดับการบริโภคของมาเลเซียเข้าสู่ภาวะปกติ

การจ้างงาน: ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนอาจส่งผลต่อการจ้างงานของแรงงานไทยโดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือที่มาเลเซียขาดแคลนสูง และปัจจุบันแรงงานไทยในภาคใต้เข้าไปทำงานในมาเลเซียเป็นจำนวนมาก แนวทางการยกเลิกนโยบายภูมิบุตรของรัฐบาลท้องถิ่นที่อยู่ใกล้กับชายแดนไทยจะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันของการลงทุนและสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้น คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการแรงงานไทยมากนัก

โดยสรุปแล้ว ผลการเลือกตั้งของมาเลเซียอาจทำให้สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศเพิ่มขึ้นและอาจกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของมาเลเซียซึ่งย่อมมีผลต่อไทยผ่านการท่องเที่ยวและการค้าชายแดน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า แม้ว่าผลกระทบต่อไทยในขณะนี้น่าที่จะอยู่ในวงจำกัดแต่ภาคเอกชนไทยก็ควรติดตามสถานการณ์ทางการเมืองของมาเลเซียอย่างใกล้ชิดต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า