Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 มีนาคม 2551

เกษตรกรรม

ราคาข้าวพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ : ปัจจัยตลาดโลกเอื้อ...ผู้ส่งออกเผชิญความเสี่ยง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2126)

คะแนนเฉลี่ย

ราคาข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 และราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี 2551 เนื่องจากปัจจัยเอื้อในตลาดการค้าข้าวโลก ไม่ว่าจะเป็นการงดส่งออกข้าวของอินเดีย และการชะลอการทำสัญญาส่งออกข้าวของเวียดนาม ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญอันดับ 2 และ 4 ของโลกตามลำดับ ในขณะที่มีการคาดการณ์ว่าในปี 2551 ความต้องการข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวยอมสู้ราคาที่สูงขึ้นและหันมานำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น

ผลกระทบของราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ส่งออกข้าวของไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่มีโอกาสขาดทุนในการรับคำสั่งซื้อล่วงหน้า รวมทั้งยังมีโอกาสที่จะหาข้าวส่งออกตามคำสั่งซื้อที่ทำไว้ไม่ทันตามกำหนด ส่วนผู้บริโภคข้าวในประเทศต้องเผชิญกับปัญหาราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ปัญหานี้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการค้าข้าวต้องเร่งหามาตรการเตรียมรับมือ

คาดการณ์ว่าราคาข้าวในตลาดโลกจะอยู่ในเกณฑ์สูงติดต่อกันอีก 2-3 ปี แม้ว่าราคาข้าวที่อยู่ในเกณฑ์สูงนี้จะเป็นแรงจูงใจสำคัญให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกในปี 2552 แต่ราคาข้าวก็จะยังอยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกันกับการคาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก เนื่องจากการขยายพื้นที่ปลูกพืชพลังงาน ยังคงเป็นปัญหาในการแย่งพื้นที่ปลูกกับพืชอาหาร ซึ่งทางออกที่ดีที่สุดของไทยคือ การเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ นอกจากนี้ สถานการณ์ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตผ่านทางความแปรปรวนของสภาพอากาศ และเพิ่มโอกาสในการแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรู ซึ่งสร้างความเสียหายต่อปริมาณการผลิตสินค้าเกษตร

ประเด็นที่รัฐบาลต้องเร่งพิจารณา คือ การกำหนดแนวนโยบายข้าวรวมทั้งสินค้าเกษตรอื่นๆในระยะยาว เนื่องจากสถานการณ์ของทั้งข้าวและสินค้าเกษตรเปลี่ยนแปลงไป จากปัญหาการแย่งพื้นที่ปลูก และผลกระทบจากภาวะโลกร้อน รวมทั้งการแย่งสินค้าเกษตรในกรณีที่สินค้านั้นมีจำกัด กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ปลูก โรงงานที่ใช้สินค้าเกษตรนั้นเป็นวัตถุดิบ ผู้บริโภคในประเทศ และผู้ส่งออก ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน คือ การวางแนวนโยบายในการแทรกแซงตลาดอย่างเหมาะสม โดยการเกลี่ยผลประโยชน์ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้

อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญคือ การวางนโยบายที่มีความยืดหยุ่นและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันกับสถานการณ์ทางการตลาดที่เปลี่ยนไปทั้งในช่วงเวลาที่ราคามีแนวโน้มสูงขึ้นและราคาตกต่ำ เนื่องจากโดยธรรมชาติของสินค้าเกษตรนั้นการคาดเดาปริมาณการผลิตนั้นเป็นไปได้ยาก จากปัจจัยความเสี่ยงทั้งในการตัดสินใจปลูกของเกษตรกร ความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ รวมทั้งปริมาณการผลิตของประเทศคู่แข่ง ตลอดจนความต้องการของประเทศคู่ค้า โดยหลักการแล้วนโยบายต้องตั้งอยู่ที่ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และระวังไม่ให้เกิดภาวะการขาดแคลนข้าวในประเทศ รวมทั้งควรให้ความต่อปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่โดยปกติมีอำนาจการต่อรองราคาต่ำ ทำให้ในยามที่ราคาปรับขึ้น เกษตรกรได้รับอานิสงส์จากการเพิ่มขึ้นของราคาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ในขณะที่เมื่อราคาตกเกษตรกรก็มักจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ส่วนผู้บริโภคในประเทศก็ต้องได้รับการดูแลไม่ให้ประสบกับภาวะขาดแคลนสินค้า และต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เป็นต้น ในขณะที่การวางนโยบายที่สามารถรองรับกับภาวะความผันผวนดังกล่าวได้นั้นคงต้องอาศัยการระดมความคิดจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในภาครัฐบาลและภาคเอกชน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม