Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 เมษายน 2551

เกษตรกรรม

ราคาข้าวที่สูงเป็นประวัติการณ์ ... เพิ่มแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2129)

คะแนนเฉลี่ย

นับตั้งแต่เข้าสู่ปี 2551 ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศในแต่ละเดือนสูงเหนือความคาดหมายของตลาด โดยในเดือนมีนาคม 2551 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 5.3 ใกล้เคียงกับร้อยละ 5.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ (ที่เป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 เดือน) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.0 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2549 และถ้ามองสถานการณ์ราคาสินค้าในขณะนี้จะเห็นได้ว่ายังมีปัจจัยกระทบจากหลายด้านที่อาจส่งผลกดดันต่อภาวะค่าครองชีพ จนอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าไม่สามารถชะลอตัวได้มากดังที่เคยคาดการณ์ไว้

สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งในขณะนี้คือสถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลกที่ทะยานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ อันเป็นผลมาจากประเทศผู้ผลิตรายสำคัญโดยเฉพาะเวียดนามและอินเดียประสบภาวะผลผลิตเสียหายจากภัยธรรมชาติ ปริมาณผลผลิตข้าวลดลง ทำให้รัฐบาลทั้งสองประเทศมีมาตรการชะลอการส่งออก ซึ่งการที่ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้ราคาข้าวในประเทศไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อไป

ราคาข้าวที่สูงขึ้นจะมีผลต่อประชาชนในวงกว้าง เพราะเป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภคในชีวิตประจำวัน จากการประเมินผลกระทบของทิศทางราคาข้าวต่อภาระค่าครองชีพของผู้บริโภค พบว่า ราคาข้าวที่สูงขึ้นเกินความคาดหมายนี้จะมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอีกร้อยละ 0.6-1.0 จากกรอบประมาณการเดิม ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 2551 นี้ขึ้นไปเป็นร้อยละ 4.0-5.5 โดยมีค่ากลางที่ร้อยละ 4.8 จากประมาณการเงินเฟ้อเดิมอยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.5 ซึ่งช่วงประมาณการที่กว้างนี้สะท้อนความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากราคาสินค้าอาหารและพลังงานที่อาจปรับตัวสูงกว่าที่คาด

แรงกดดันเงินเฟ้ออาจจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยอาจจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ อันจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ได้ ดังนั้น ปัญหาราคาสินค้าที่สูงขึ้นในขณะนี้จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รอคอยการแก้ไข ทั้งนี้ ในภาวะที่ปัญหาราคาสินค้าแพงขึ้นเนื่องมาจากปัจจัยด้านอุปทานดังเช่นในขณะนี้ หนทางออกที่ดีที่สุดควรเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง โดยในเรื่องปัญหาราคาข้าว กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ควรร่วมกันหาแนวทางในการดูแลระดับราคา ความสมดุลของกลไกอุปสงค์และอุปทาน รวมถึงการบริหารนโยบายการส่งออกข้าวอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้บริโภคในประเทศได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุดจากราคาในตลาดโลกที่พุ่งสูง ขณะที่มาตรการทางการเงินและการคลังที่มีเป้าหมายในการเพิ่มอำนาจซื้อแก่ผู้บริโภคนั้น อาจมีข้อจำกัดในด้านประสิทธิผลของนโยบาย รวมทั้งยังมีประเด็นในด้านเสถียรภาพที่จะต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังรอบคอบ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม