Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 เมษายน 2551

เกษตรกรรม

วิกฤตอาหารโลก : ผลกระทบ...โอกาสของไทย (กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2064)

คะแนนเฉลี่ย

จากประเด็นราคาอาหารโลกพุ่งขึ้นอย่างมากจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้ โดยองค์กรระหว่างประเทศต่างหันมาให้ความสำคัญ โดยต่างเห็นพ้องต้องกันว่าปัญหาดังกล่าวนี้ประเทศต่างๆทั่วโลกต้องร่วมมือกันเพื่อหามาตรการแก้ไขอย่างเหมาะสม เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเนื่องหลากหลายประการ สถานการณ์ความระส่ำระสายในประเทศยากจนแต่ละประเทศ ซึ่งจะเกิดการประท้วงและก่อจลาจลของประชาชนจากวิกฤตการณ์อาหารที่ขาดแคลน และมีราคาสูงลิบลิ่ว จากสัญญาณเตือนวิกฤติอาหารของโลกข้างต้น ประเทศไทยในฐานะประเทศเกษตรกรรมที่เป็นแหล่งผลิตอาหารใหญ่ประเทศหนึ่งของโลกน่าจะแปรวิกฤติเป็นโอกาส และเตรียมวางแผนพัฒนาศักยภาพความเป็นแหล่งอาหารของโลกเพื่อรองรับแนวโน้มในอนาคตที่นับวันอาหารจะเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าสำคัญมากขึ้น

องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ในระยะยาวทั่วโลกจะเกิดปัญหาการขาดแคลนอาหารและจะเกิดวิกฤตการณ์ทางราคาอาหารอย่างรุนแรง ซึ่งคาดว่าผลกระทบนั้นรุนแรงกว่าวิกฤตอัตราแลกเปลี่ยน ที่เกิดขึ้นเมื่อทศวรรษที่ 70 ที่มีปัญหาการก่อจลาจลทั่วโลก จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กดดันให้ประเทศยากจนหั่นงบประมาณพยุงราคาสินค้า ส่งผลให้ราคาธัญญาหารพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชาชนมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลกก่อการจลาจล เรียกการจลาจลครั้งนั้นกันว่า "จลาจลไอเอ็มเอฟ" และเหตุการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่การล่มสลายของรัฐบาลหลายชุด เช่นในซูดาน และเปรู

ส่วนวิกฤตอาหารแพงจะกินเวลายาวนานมากน้อยเพียงใดยังคาดเดาได้ลำบาก หน่วยวิจัยเศรษฐกิจ (Economic Research Service : ERS) ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯเตือนว่าราคาธัญพืชทั่วโลกจะยังคงปรับขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 1 ทุกปีไปจนถึงปี 2559 ซึ่งทำให้ ณ ปลายปี 2559 ราคาธัญพืชก็จะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8.3 จากระดับปลายปี 2551 หากเป็นไปตามคาดการณ์หลายพื้นที่ของโลกที่ประสบปัญหาข้าวยากหมากแพงอยู่แล้ว คงจะต้องเผชิญปัญหาทั้งวิกฤติการเมือง และวิกฤตสังคมตามมา

วิกฤตอาหารโลกครั้งนี้ นับว่าเป็นโอกาสดีของไทย เนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารส่งออกที่สำคัญของโลก ทำให้มีปริมาณอาหารเพียงพอบริโภคในประเทศ และมีโอกาสสร้างรายได้จากการส่งออกสินค้าอาหาร ประเทศไทยในฐานะประเทศเกษตรกรรมที่เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญประเทศหนึ่งของโลก โดยเฉพาะข้าวน่าจะแปรวิกฤติเป็นโอกาส และเตรียมวางแผนพัฒนาศักยภาพความเป็นแหล่งอาหารของโลกเพื่อรองรับแนวโน้มในอนาคตที่นับวันอาหารจะเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันควรกำหนดแผนพัฒนาประเทศที่ควรจะเน้นจุดแข็งของความเป็นประเทศเกษตรกรรมทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว อย่างเป็นระบบ เป็นเอกภาพและอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ขณะเดียวกันต้องสำรองและขยายพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศให้มากขึ้น รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับด้านเกษตรในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ประเด็นที่ไทยต้องพิจารณา คือ การแบ่งสัดส่วนระหว่างพืชอาหารและพืชพลังงาน โดยองค์กรระหว่างประเทศเสนอให้ประเทศที่มีพื้นที่ในการปลูกพืชเกษตรให้ความสำคัญในการปลูกพืชเพื่อผลิตอาหารให้มากที่สุด แทนที่จะใช้พื้นที่เพื่อปลูกพืชพลังงานทดแทน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเองเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงานสุทธิ ทำให้การปลูกพืชพลังงานทดแทนเพื่อรองรับการใช้พลังงานในอนาคตยังคงมีความสำคัญ ทำให้สุดท้ายแล้วประเด็นดังกล่าวจะอยู่ที่ว่าประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(โอเปก)จะร่วมมือที่จะช่วยเหลือกับประเทศเกษตรกรรม โดยการพยายามชะลอการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันได้มาก-น้อยเพียงใด

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ณ ราคาในปัจจุบันรัฐบาลยังยืนยันที่จะปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามกลไกตลาดเสรี โดยจะไม่มีการควบคุมการส่งออก ซึ่งผู้บริโภคในประเทศย่อมได้รับผลกระทบจากการที่ราคาสินค้าธัญญาหารสูงขึ้น แต่ก็ยังคงพอที่ยอมรับได้โดยเหตุผลที่เพื่อช่วยเกษตรกร เนื่องจากการบริโภคในประเทศในปัจจุบันยังคงไม่ประสบกับปัญหาขาดแคลน ในขณะที่บรรดาเกษตรกร ซึ่งรับรู้ข้อมูลว่าราคาจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก็จะมีการจัดสรรทรัพยากร หรือการตัดสินใจว่าจะปลูกพืชชนิดใดขึ้นอยู่กับราคาเป็นหลัก รวมทั้งเกษตรกรจะตัดสินใจลงทุนในด้านเทคโลยีทางการเกษตรที่ทันสมัยทั้งนี้เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนทางด้านเครื่องจักรกลทางการเกษตร การลงทุนเพื่อหาน้ำให้เพียงพอกับการเพาะปลูก เช่น การขุดบ่อบาดาล การวางชลประทานระบบท่อใต้ดินซึ่งเป็นระบบที่แม้จะลงทุนสูง แต่มีความคุ้มค่าในการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น ซึ่งเท่ากับเป็นโอกาสในการเพิ่มพูนรายได้ของเกษตรกรเอง ส่วนบรรดาพ่อค้าในระดับต่างๆก็ได้รับอานิสงส์กันถ้วนหน้า

อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปถ้าราคาสินค้าธัญญาหารลดลง รัฐบาลคงต้องกลับเข้ามาแทรกแซงตลาดเพื่อพยุงราคาเช่นในอดีต ทั้งนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่จะส่งผลให้ผู้บริโภคในประเทศไม่ต้องรับภาระหนักต่อไป ในขณะที่อีกด้านหนึ่งถ้าหากราคาสินค้าธัญญาหารยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว คาดว่าประเด็นที่รัฐบาลคงจะต้องตัดสินใจเพื่อกำหนดความเหมาะสมใน 2 ประเด็นหลักที่ความขัดแย้งอาจรุนแรงขึ้นตามราคาอาหารในตลาดโลก คือ ประเด็นระหว่างการผลิตพืชอาหารและพืชพลังงานทดแทน และประเด็นในเรื่องปริมาณการส่งออกและความพอเพียงรวมทั้งราคาที่ยอมรับได้ในการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งการตัดสินใจของรัฐบาลต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ทั้งนี้เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เนื่องจากการตัดสินใจของรัฐบาลนั้นส่งผลกระทบให้มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม