Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 พฤษภาคม 2551

เกษตรกรรม

มาตรการรับซื้อข้าวจากชาวนา : ความสำเร็จขึ้นอยู่กับราคาข้าวในตลาดโลก (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2165)

คะแนนเฉลี่ย

ท่ามกลางข่าวที่ชาวนาออกมาประท้วง เนื่องจากราคารับซื้อข้าวของโรงสีลดลง กระทรวงพาณิชย์เข้ามาแก้ไขปัญหาโดยเตรียมเสนอโครงการรับซื้อข้าวจากชาวนาให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) และคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร(คชก.) พิจารณาในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ เพื่อให้ชาวนาสามารถขายข้าวได้ราคาดีขึ้น ซึ่งเบื้องต้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบให้กำหนดราคาข้าวเปลือกที่รัฐบาลจะเข้าไปรับซื้อ โดยข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 19,000-20,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 14,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 9,000 บาท ซึ่งข้าวเปลือกทุกประเภทจะต้องมีความชื้นไม่เกิน15% ส่วนปริมาณข้าวที่รัฐบาลรับซื้อครั้งนี้ ยังไม่ได้กำหนดจำนวนและระยะเวลาที่ชัดเจน แต่หลังจากรัฐบาลรับซื้อเข้ามาแล้วก็จะเร่งระบายออก โดยจะขายให้แก่ผู้ซื้อในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดเงินกู้เงื่อนไขพิเศษจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ให้แก่โรงสีที่ต้องการเข้าไปรับซื้อข้าวเปลือกเหนียว นอกจากนั้น รัฐบาลจะยกเลิกกฎหมายห้ามชาวนาขายข้าวข้ามเขต เพื่อไม่ให้ถูกโรงสีในพื้นที่กดราคา ซึ่งจะช่วยให้ชาวนาได้รับประโยชน์จากการขายข้าวอย่างเต็มที่

มาตรการรับซื้อข้าวโดยตรงจากชาวนาของกระทรวงพาณิชย์นับว่าเป็นการช่วยเหลือชาวนา มาตรการดังกล่าวนั้นจะได้ผลดีในช่วงที่ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์ร่วมกัน ทั้งชาวนาที่ขายข้าวได้ราคา และทั้งโรงสีและผู้ส่งออกสามารถรับซื้อและระบายข้าวออกสู่ตลาดได้

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ราคาซื้อขายล่วงหน้าข้าวเปลือกในตลาดชิคาโกซึ่งเคยปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมนั้นกลับมีทิศทางการปรับตัวลดลง เนื่องจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯคาดการณ์ปริมาณการผลิตข้าวในปี 2551/52 ว่าจะเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ และการส่งออกข้าวของเวียดนามจะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นมาตรการรับซื้อข้าวของรัฐบาลทำให้บรรดาผู้ประกอบการโรงสีและผู้ส่งออกข้าวกังวลในการรับซื้อข้าวในราคาที่สูงขึ้นสวนทางกับราคาในตลาดโลก ซึ่งทำให้อาจจะต้องรับภาระเก็บสต็อกข้าวเพื่อรอทำสัญญาเพื่อส่งออก ในขณะที่ประเทศผู้นำเข้าข้าวต่างชะลอการซื้อเพื่อรอดูทิศทางราคา โดยปัจจุบันการเข้ามาซื้อข้าวของมาเลเซียเป็นปัจจัยเดียวที่กระตุ้นให้ราคาในประเทศสูงขึ้น ส่วนผู้บริโภคในประเทศน่าจะต้องรับภาระในการซื้อข้าวในราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงต่อไป อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่จะต้องติดตาม คือ แนวทางปฎิบัติของมาตรการรับซื้อข้าวจากชาวนา เนื่องจากต้องรอผลการประชุมกขช.และคชก. โดยต้องมีการขึ้นทะเบียนโรงสีที่จะเข้าร่วมโครงการ กำหนดราคาข้าวตามเกรดข้าวและความชื้น รวมทั้งชนิดข้าว และยังต้องมีการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการด้วย โดยปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดว่าข้าวที่รับซื้อมานั้นจะมีต้นทุนเท่าใด เนื่องจากถ้ากำหนดราคาสูงกว่าตลาดมาก ก็จะเกิดปัญหาเดิมคือ รัฐบาลต้องแบกภาระในการเก็บสต็อกไว้เอง และต้องหาทางส่งออกในลักษณะรัฐต่อรัฐ หรือถ้าจะระบายต่อให้เอกชนโดยรับภาระขาดทุน นอกจากนี้ การดำเนินการกำหนดกรอบปฎิบัติให้เสร็จน่าจะต้องใช้เวลา ซึ่งในช่วงนั้นเวียดนามเริ่มอนุมัติให้ผู้ส่งออกข้าวของเวียดนามรับคำสั่งซื้อเพื่อส่งออก ซึ่งย่อมส่งผลกดดันต่อราคาข้าวในตลาดโลก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม