Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 พฤษภาคม 2551

อุตสาหกรรม

กระแสข่าวการปรับขึ้นราคาเหล็กและการสต็อคสินค้าเหล็ก กระทบต่อธุรกิจก่อสร้างอย่างหนัก (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2175)

คะแนนเฉลี่ย

จากที่ราคาเหล็กสำหรับก่อสร้าง เช่น เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้าง เป็นต้น ได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีการปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 38.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นเหตุให้มีกระแสข่าวว่ากระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาปรับขึ้นราคาแนะนำสินค้าเหล็กเส้นเพิ่มขึ้นอีกกิโลกรัมละ 7 บาท ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ แต่จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มีสัญญาณแน่ชัดว่าจะมีการอนุมัติปรับขึ้นราคาหรือไม่ และจะปรับแค่ไหน เมื่อไร เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการบางรายอาจเห็นช่องทางการเก็งกำไรจากเหตุการณ์ดังกล่าวโดยการสต็อคสินค้าไว้ ส่งผลกระทบให้อุปทานเหล็กในประเทศอยู่ในสภาวะตึงตัว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงผลจากเหตุการณ์ดังกล่าวต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะธุรกิจก่อสร้าง โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

- กระแสข่าวการจะปรับขึ้นราคาเหล็กดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบทางจิตวิทยาทำให้ร้านค้ามีแนวโน้มจะกักตุนสินค้าเพื่อรอขายในช่วงที่ราคาขึ้นได้ ทำให้ปริมาณสินค้าเหล็กในประเทศตึงตัว โดยเฉพาะหลังจากการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในจีน ทำให้คาดกันว่าอุปสงค์ในตลาดโลกจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และจากทิศทางราคาเชื้อเพลิงในการผลิตและขนส่งที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ จะส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกมีโอกาสขยับสูงขึ้นไปอีก ความกังวลดังกล่าวยิ่งเสริมให้มีความคาดหมายมากยิ่งขึ้นว่ากระทรวงพาณิชย์อาจจะอนุมัติให้มีการปรับขึ้นราคาเหล็กในเร็ววัน ทำให้ร้านค้ามีแนวโน้มที่อาจจะกักตุนหรือสต็อคสินค้าเหล็กมากขึ้น

- ซึ่งถ้าหากกระทรวงพาณิชย์มีการอนุมัติปรับขึ้นราคาแนะนำสินค้าเหล็กแล้ว คาดว่าปัญหาอุปทานเหล็กในประเทศตึงตัวในขณะนี้อาจจะคลี่คลายลง เนื่องจากผู้ประกอบการที่สต็อคสินค้าไว้คงจะปล่อยให้สินค้าออกมาสู่ตลาดมากขึ้น ทว่าการปรับขึ้นราคาไม่สามารถทำได้โดยง่ายเนื่องจากจะกระทบโดยตรงต่อต้นทุนธุรกิจต่อเนื่องเช่นธุรกิจก่อสร้างในทันที จึงต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนโดยประเมินสถานการณ์เหล็กร่วมกันกับภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมถูกต้องที่สุด

- ทั้งนี้ผลที่จะตามมาภายหลังการอนุมัติขึ้นราคาเหล็ก คือ ต้นทุนการก่อสร้างที่สูงขึ้น อาจมีผลทำให้ธุรกิจบางรายมีโอกาสเสี่ยงต่อการขาดทุนและบางรายอาจปิดกิจการ แนวทางหนึ่งที่จะบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้ คือ การวางแผนร่วมกันระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้เหล็กให้มีการกระจายการผลิตและก่อสร้างตลอดปีเพื่อให้มีอุปสงค์การใช้เหล็กไม่กระจุกอยู่ในช่วงใดช่วงหนึ่ง ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เหล็กในประเทศอาจขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้นอีกได้ ซึ่งการขาดแคลนเหล็กจะส่งผลกระทบต่อโครงการก่อสร้างของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะในช่วงที่อุปสงค์ของเหล็กมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นมากในระยะข้างหน้า หลังจากที่เมื่อเร็วๆนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 โดยจัดทำเป็นงบประมาณขาดดุล ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นงบที่จัดสรรเพื่อเร่งลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ ทำให้ในช่วง 1-2 ปีนี้จะมีโครงการก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากรัฐบาลไม่มีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาอุปทานเหล็กในประเทศ อาจส่งผลให้การดำเนินการตามโครงการต่างๆถูกกระทบได้ รวมทั้งส่งผลต่อการลงทุนโดยรวมในประเทศที่ต่อเนื่องจากโครงการดังกล่าว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม