Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 มิถุนายน 2551

อุตสาหกรรม

โอกาสอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย ... เจาะตลาด SMEs ในยุคน้ำมันแพง(มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2189)

คะแนนเฉลี่ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าในปี 2551 ภาพรวมตลาดเครื่องจักรกลภายในประเทศมีโอกาสที่จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยคาดว่าการลงทุนในเครื่องจักรกลจะมีมูลค่าประมาณ 577,500 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ ประมาณร้อยละ 5.0 เติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่มีมูลค่าประมาณ 550,000 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ หดตัวประมาณร้อยละ 1.0 โดยมีปัจจัยบวกจาก อัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับสูง ค่าเงินบาทยังอยู่ในระดับที่แข็งค่ากว่าปีก่อน การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในหลายมาตรการ ตลอดจนโครงการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรกล ซึ่งคาดว่าจะช่วยจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมลงทุนติดตั้งหรือปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรกลเพื่อลดต้นทุนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจฉุดรั้งการเติบโต ได้แก่ ปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจอาจมีข้อจำกัดที่จะขยายการลงทุนหรืออาจชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์ ประกอบกับปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองที่ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ สำหรับในส่วนของตลาดต่างประเทศก็คาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกเครื่องจักรกล 4 เดือนแรกของปี 2551 มีมูลค่าประมาณ 40,951 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณร้อยละ 19.0

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ผลิตเครื่องจักรกลไทยยังมีส่วนร่วมในตลาดเครื่องจักรกลข้างต้นไม่มากนัก เนื่องจากตลาดในประเทศก็เป็นของผู้นำเข้า ส่วนตลาดต่างประเทศก็เป็นของบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าผู้ผลิตเครื่องจักรกลไทยยังมีโอกาสในการเจาะตลาด โดยควรหันไปให้ความสำคัญกับตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยเฉพาะตลาด SMEs ที่มีความต้องการเครื่องจักรกลราคาไม่สูง สามารถตอบสนองการผลิตสินค้าที่หลากหลายและมีลักษณะเฉพาะของไทยได้ เช่น กลุ่มสินค้าอาหาร กลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป กลุ่มสินค้าพลังงานทดแทน กลุ่มสินค้าชุมชนหรือ OTOP เป็นต้น ประกอบกับในขณะนี้ที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น เครื่องจักรกลราคาไม่สูงของผู้ผลิตไทยอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้นได้ โดยผู้ผลิตเครื่องจักรกลไทยต้องปรับตัวให้มีความยืดหยุ่นในการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น ตลอดจนต้องมีการสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจะต้องมีการจัดตั้งแหล่งข้อมูลกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและช่วยให้เกิดการจับคู่เจรจาทางธุรกิจระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อ โดยตัวอย่างเครื่องจักรกลที่คาดว่าจะเป็นโอกาสสำคัญของผู้ผลิตไทยในอนาคต เช่น เครื่องจักรกลที่ใช้ในอุตสาหกรรมเกษตร เครื่องจักรกลที่ใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ เครื่องพิมพ์สำหรับบรรจุภัณฑ์ เครื่องมือกลพื้นฐาน เป็นต้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม