Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 มิถุนายน 2551

อุตสาหกรรม

ทิศทางราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กครึ่งหลังปี 2551 : ผันผวนและทรงตัวในระดับสูง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2196)

คะแนนเฉลี่ย

ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กรมการค้าภายในได้ปรับราคาแนะนำสินค้าเหล็กทุกประเภทขึ้นกิโลกรัมละ 7 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงขึ้นกว่าราคาที่มีการปรับขึ้นครั้งก่อนในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดยเฉลี่ยถึงกว่าร้อยละ 23 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างอย่างหนัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มของราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

จากการที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้าเหล็กกึ่งวัตถุดิบมาเพื่อผลิตต่อ ทำให้ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาเหล็กในตลาดโลกโดยตรงซึ่งเป็นผลมาจากแรงหนุนทั้งด้านบวกและด้านลบ โดยปัจจัยที่จะกดดันให้ราคาเหล็กเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ราคาถ่านหิน ต้นทุนหลักในการผลิตมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากอุปทานที่ตึงตัว ราคาน้ำมันต้นทุนหลักในการขนส่งซึ่งยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงและมีโอกาสขึ้นไปได้อีกช่วงครึ่งหลังปีนี้จากปัจจัยเสี่ยงกดดัน เช่น ปัจจัยด้านฤดูกาลขับรถท่องเที่ยวของสหรัฐฯ และฤดูมรสุมในเขตอ่าวเม็กซิโกที่กำลังจะมาถึง นอกจากนี้ยังมีอุปสงค์ของจีนที่เร่งตัวขึ้นหลังเกิดเหตุธรณีพิบัติภัย ซึ่งจีนจำเป็นต้องใช้เหล็กจำนวนมากในการบูรณะซ่อมแซมและปรับปรุงอาคารและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งน่าจะส่งผลให้อุปสงค์ของเหล็กสูงขึ้นในระยะยาว รวมถึงการเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์หลังค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงอาจทำให้ราคาเหล็กในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นได้ เนื่องจากความวิตกเรื่องราคาถ่านหินและวัตถุดิบเหล็กซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตจะเพิ่มสูงขึ้น ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลให้ราคาเหล็กลดลง คือ แนวโน้มเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคที่ชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ทั้งจากภาวะเงินเฟ้อและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในหลายๆประเทศ ส่งผลกระทบต่อการลงทุนต่างๆที่อาจชะลอตัวลง

จากปัจจัยข้างต้นทำให้แนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกช่วงครึ่งหลังของปี 2551 อาจจะยังมีความผันผวน แต่คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 นี้ ทิศทางของราคาเหล็กในตลาดโลกน่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงเนื่องจากปัจจัยกดดันราคาต่างๆดังกล่าว อย่างไรก็ตามคาดว่าระดับราคาไม่น่าที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่มากเหมือนกับในช่วงที่ผ่านมา จากปัจจัยเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกดดันต่ออุปสงค์เหล็กในระดับหนึ่งอยู่ ซึ่งราคาสินค้าเหล็กที่อาจจะยังคงอยู่ในระดับสูงนี้น่าจะส่งผลต่อต้นทุนของหลายธุรกิจ โดยเฉพาะในหมวดก่อสร้างซึ่งได้รับผลกระทบทั้งจากต้นทุนสินค้าเหล็กและต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ดังนั้นแนวทางหนึ่งที่อาจจะบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้ คือ การวางแผนร่วมกันทั้งทางภาครัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินถึงทิศทางแนวโน้มของราคา และเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถวางแผนล่วงหน้าในการรองรับปัญหาราคาสินค้าเหล็กที่สูงขึ้นดังกล่าว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม