Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 มิถุนายน 2551

อุตสาหกรรม

ภาวะที่ท้าทายของยอดขายรถยนต์ในประเทศช่วงครึ่งหลังปี 2551 (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2194)

คะแนนเฉลี่ย

จากยอดขายรถยนต์ในประเทศช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ที่ผ่านมา พบว่ามีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานที่ต่ำของปี2550 และการเข้าตลาดของรถยนต์นั่งที่สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ อี20 ในช่วงต้นปี อย่างไรก็ตามทิศทางของยอดขายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีโอกาสจะชะลอลงกว่าช่วงก่อนหน้าจากปัจจัยลบที่เพิ่มขึ้น ช่วงดังกล่าวจึงเป็นภาวะที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการรถยนต์ค่ายต่างๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยเสี่ยงต่อยอดขายรถยนต์ รวมถึงแนวโน้มของยอดขายรถยนต์ในประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

ราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย...ปัจจัยลบต่อแนวโน้มตลาดรถยนต์ในประเทศ

- ราคาน้ำมันอาจจะยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้าไนเม็กซ์ส่งมอบเดือนกรกฎาคมได้ขึ้นไปทำสถิติสูงสุดเหนือ 139 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรลในการซื้อขายระหว่างวันในวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นต่อไป ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคที่อาจชะลอลง และประเภทรถยนต์ที่จะเลือกซื้ออาจเปลี่ยนไป

- อัตราเงินเฟ้อที่มีทิศทางสูงขึ้นเร็วกว่าที่คาด โดยจะเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศในเดือนพฤษภาคม 2551 สูงขึ้นถึงร้อยละ 7.6 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี และแรงกดดันเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นได้อีกในไตรมาสที่ 3 ซึ่งผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อดังกล่าวจะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงและอาจกระทบต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ได้

- อัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีแนวโน้มอยู่ในช่วงขาขึ้น ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ทยอยประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทขึ้น ทำให้อัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์น่าจะขยับสูงขึ้นตามส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคที่ต้องการซื้อรถใหม่ลดลง

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลบวกต่อตลาดรถยนต์อาจมาจากมาตรการสนับสนุนพลังงานทางเลือกของภาครัฐ แนวทางในการเร่งขยายสถานีบริการพลังงานทางเลือกต่างๆ แผนงานส่งเสริมการตลาดของค่ายรถยนต์ต่างๆในการกระตุ้นยอดขาย รวมไปถึงงานมหกรรมยานยนต์ในช่วงปลายปีและการเข้ามาเปิดตัวของค่ายรถยนต์รายใหม่ 3 รายในงานดังกล่าว เป็นต้น

แนวโน้มตลาดยานยนต์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551

จากการที่ผู้บริโภคได้โหมซื้อรถที่ใช้แก๊สโซฮอล์ อี20 ไปในช่วงต้นปี ยอดขายรถดังกล่าวจึงอาจไม่สามารถดึงยอดขายรถยนต์ให้สูงขึ้นได้ดังช่วงต้นปี และยังติดปัญหาเรื่องจำนวนสถานีบริการน้ำมันที่ยังมีค่อนข้างน้อย ซึ่งไม่สะดวกกับผู้ใช้รถรุ่นดังกล่าวในการใช้เชื้อเพลิงราคาประหยัด ส่วนพลังงานทดแทนแก๊สโซฮอล์ อี85 ที่รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะให้เริ่มใช้ได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้นั้น ยังมีปัญหาต่างๆโดยเฉพาะปัญหาเรื่องจำนวนสถานีบริการน้ำมันที่จะรองรับ และราคารถนำเข้ารุ่นดังกล่าวที่อาจจะสูง ทำให้นโยบายดังกล่าวอาจจะยังไม่เริ่มส่งผลกระตุ้นยอดขายรถยนต์ได้ชัดเจนมากนักในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาที่มาตรการดังกล่าวจะเริ่มมีผลเริ่มบังคับใช้ รวมทั้งยังคงต้องติดตามว่าราคาแก๊สโซฮอล์ อี85 ที่จะออกมานั้นจะสามารถจูงใจผู้บริโภคได้มากเพียงใด ส่วนการหันไปทำตลาดรถยนต์ในต่างจังหวัด โดยคาดว่าราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นมากน่าจะส่งผลดีต่อตลาดรถยนต์ในต่างจังหวัดโดยเฉพาะรถกระบะขนาด 1 ตัน นั้นอาจพบปัญหาเรื่องราคาน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้นมาก ทำให้ต้นทุนในการใช้รถยนต์ประเภทดังกล่าวสูงขึ้น อีกทั้งทางเลือกพลังงานทดแทนที่มีราคาประหยัดสำหรับรถกระบะยังมีไม่มาก จึงคาดว่าแนวโน้มการเลือกซื้อรถกระบะในต่างจังหวัดอาจขยายตัวได้ไม่สูงนัก

ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ยอดขายรถยนต์ในประเทศน่าจะชะลอลงเมื่อเทียบกับตัวเลขในช่วงที่ผ่านมา โดยคาดว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศตลอดปี 2551 คงจะมีจำนวนประมาณ 680,000 คัน คิดเป็นอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 8 โดยประมาณ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้าและผลจากมาตรการสนับสนุนแก๊สโซฮอล์ อี20 ของรัฐ ทั้งนี้ในระยะยาว จากนโยบายต่างๆของรัฐที่มุ่งการใช้พลังงานทดแทน และสนับสนุนยานยนต์ที่ประหยัดพลังงาน ประกอบกับภาวะราคาน้ำมันที่ยังคงสูงขึ้น จึงเชื่อว่าแนวโน้มการผลิตและตลาดรถยนต์ในประเทศไทยในอนาคต จะมุ่งไปที่รถยนต์นั่งขนาดเล็กและขนาดกลางที่ช่วยประหยัดเชื้อเพลิง และสามารถใช้พลังงานทดแทนได้ ทำให้ในระยะยาวอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งมีแนวทางการปรับตัว โดยพัฒนารถยนต์ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าวก็ยังมีโอกาสเติบโตไปได้อีกมากในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม