Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 มิถุนายน 2551

การค้า

FTA ไทย-เปรู : ช่วยกระตุ้นส่งออก ... เสริมฐานะดุลการค้าไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2201)

คะแนนเฉลี่ย

ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องในปี 2551-2552 ทำให้ดุลการค้าของไทยยังคงเผชิญความเสี่ยงกับภาวะขาดดุลการค้า เนื่องจากไทยนำเข้าน้ำมันดิบคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 17 ของการนำเข้าทั้งหมดของไทย ซึ่งยอดขาดดุลการค้าที่พุ่งขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยด้วย การเร่งขยายการส่งออกจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทายอดขาดดุลการค้าของไทย และช่วยลดแรงกดดันต่อดุลบัญชีเดินสะพัดที่อาจส่งผลกระทบซ้ำเติมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาวะที่ไทยต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน รวมถึงเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น อันส่งผลต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนและทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจสูงขึ้น การเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ของไทยที่มีความคืบหน้าทั้งในระดับภูมิภาคและทวิภาคีที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2551-2552 ได้แก่ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น และ FTA ไทย-เปรู น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ดีขึ้นในระยะต่อไป และช่วยฐานะดุลการค้าของไทยให้ดีขึ้นไม่มากก็น้อย จากปัจจุบันในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ที่ไทยขาดดุลการค้า 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากช่วงเดียวกันปี 2550 ที่เกินดุลการค้า 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

พิธีสารการลดภาษีศุลกากรระหว่างไทยกับเปรูในสินค้ากลุ่มเริ่มแรก (Early Harvest : EH) ภายใต้ความตกลง FTA ไทย-เปรู ที่คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2552 จะกระตุ้นให้การส่งออกของไทยไปเปรูขยายตัวได้ดีขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมูลค่าส่งออกของไทยไปเปรูค่อนข้างน้อย จึงมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ประกอบกับการบริโภคภายในประเทศเปรูที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โอกาสของสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกของไทยจะเข้าสู่ตลาดเปรูได้มากขึ้น โดยสินค้าส่งออกของไทยที่จะได้ประโยชน์ทันทีจากการลดภาษีของเปรูเหลือร้อยละ 0 (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของสินค้าที่ไทยส่งออกไปเปรู) เช่น รถปิกอัพ หลอดไฟฟ้า พลาสติกและผลิตภัณฑ์ เลนส์แว่นตา ยางและผลิตภัณฑ์ โทรศัพท์ เครื่องขยายเสียง คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ

ขณะเดียวกันไทยจะต้องลดภาษีนำเข้าสินแร่สังกะสี สินแร่ดีบุก รัตนชาติ ด้ายและผ้าทอขนสัตว์ให้เปรูเหลือในอัตราร้อยละ 0 ทันทีที่พิธีสารฯ มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปจากเปรูให้ถูกลง คาดว่าจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจไทยที่กำลังประสบกับภาวะที่ต้นทุนด้านอุปทานพุ่งขึ้นในปัจจุบันและมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงในปี 2552 และยังช่วยให้การผลิตสินค้าแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าส่งออกของไทยสูงขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบันสินค้าที่ไทยนำเข้าจากเปรูเกือบทั้งหมดเป็นสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 96 ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากเปรู

การเปิดเสรีสินค้าภายใต้พิธีสารฉบับนี้ยังไม่รวมสินค้าปลาป่นซึ่งเป็นสินค้าอ่อนไหวของไทย อย่างไรก็ตาม สำหรับระยะต่อไปของการเจรจาเปิดตลาดสินค้า FTA ไทย-เปรู ไทยอาจต้องเปิดให้สินค้าปลาป่นของเปรูเข้ามาไทยได้มากขึ้น ซึ่งเปรูเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตปลาป่นซึ่งมีคุณภาพและส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก แม้ว่าด้านหนึ่งน่าจะส่งผลดีต่อผู้ผลิตอาหารสัตว์ของไทย เนื่องจากการมีแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพดีและราคาถูกลง รวมทั้งลดปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบสินค้าประมงที่ไทยกำลังประสบอยู่ขณะนี้ด้วย แต่ชาวประมงและธุรกิจปลาป่นไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันมากขึ้น ผู้ประกอบการปลาป่นจึงควรใช้ระยะเวลาที่เหลืออยู่ปรับตัวเตรียมพร้อมต่อการแข่งขันจากการเปิดเสรีในอนาคต ขณะที่ภาครัฐควรดำเนินการใช้เงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี (กองทุน FTA) อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นประโยชน์และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ในอันที่จะช่วยสร้างสมรรถนะทางการแข่งขันให้กับธุรกิจปลาป่นไทย รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนา/ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาแหล่งทรัพยากรประมงในประเทศ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า