Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 กรกฎาคม 2551

เกษตรกรรม

ผลิตภัณฑ์กุ้งปี 51 : ผลกระทบจากองค์การการค้าโลกตัดสินให้ไทยชนะคดีสหรัฐฯ(กระแสทรรศน์ฉบับที่ 2087)

คะแนนเฉลี่ย

จากกรณีที่องค์กรอุทธรณ์ภายใต้องค์การการค้าโลกประกาศคำตัดสินให้ไทยชนะคดีที่ฟ้องสหรัฐฯ กรณีการส่งออกกุ้งแช่แข็งไปสหรัฐฯ ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการคำนวณอัตราการเรียกเก็บภาษีอากรและการวางพันธบัตรประกันหรือซี-บอนด์ตามกฎการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) ซึ่งผลก็คือ สหรัฐฯจะต้องปรับวิธีการคำนวณอัตราการเรียกเก็บภาษีอากรการนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งจากไทยใหม่ ยกเลิกการเก็บซี-บอนด์ และต้องจ่ายคืนหลักประกันซี-บอนด์ให้กับผู้ส่งออกไทยที่จ่ายไปแล้วตั้งแต่ปี 2547-2550 เป็นมูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้คาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯในช่วงไตรมาสสี่ของปี 2551 จะมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากสถานภาพการแข่งขันของไทยจะดีขึ้นหลังจากที่ในช่วงครึ่งแรกปี 2551 ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและจีน ซึ่งสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดหรือภาษีเอดีต่ำกว่าไทย และเอกวาดอร์ซึ่งชนะคดีที่ฟ้องสหรัฐฯให้เปลี่ยนวิธีการคำนวณอัตราภาษีเอดีใหม่

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ไทยชนะสหรัฐฯทั้งในกรณีการคำนวณอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่ไม่เป็นธรรม และการวางซี-บอนด์ค้ำประกันการส่งออก ดังนั้นไทยจึงมีความได้เปรียบประเทศคู่แข่งขันอื่นๆที่ไม่ต้องมีภาระในการวางซี-บอนด์ ยกเว้นอินเดียซึ่งก็ชนะคดีเช่นเดียวกับไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยยังคงต้องรอประกาศอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในรอบสุดท้ายที่คาดว่าจะประกาศประมาณเดือนกันยายนนี้ก่อน ซึ่งจะเป็นข้อสรุปถึงความได้เปรียบเสียเปรียบของผลิตภัณฑ์กุ้งไทยในตลาดสหรัฐฯ

แม้ว่าไทยน่าจะได้รับผลดีจากคำตัดสินขององค์การการค้าโลกดังกล่าว แต่บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่าปี 2551 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้ง ไปยังตลาดสหรัฐฯจะมีมูลค่า 1,170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2550 แล้วลดลงร้อยละ 5.4 หลังจากที่ในช่วงครึ่งแรกขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7 เนื่องจากการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและกุ้งกระป๋องชะลอตัวลงอย่างมาก ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งเหล่านี้ของไทยในตลาดสหรัฐฯเสียเปรียบคู่แข่งหลายด้าน กล่าวคือ ประเทศคู่แข่งได้เปรียบไทยในเรื่องภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดหรือภาษีเอดีที่ในปัจจุบันไทยถูกเรียกเก็บในอัตราที่สูงกว่า โดยเวียดนาม จีน และอินเดียถูกเก็บภาษีร้อยละ 0-1.0 และอินโดนีเซียไม่ถูกเรียกเก็บภาษีเอดี ในขณะที่ไทยเสียภาษีเอดีเฉลี่ยร้อยละ 4.24 รวมทั้งยังเสียเปรียบเวียดนามและอินเดียในเรื่องค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่ากว่าเมื่อเทียบระหว่างเงินดองกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินรูปีกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทำให้สินค้าผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่งในสายตาของประเทศผู้นำเข้าในสหรัฐฯ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม