Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 ตุลาคม 2551

การค้า

วิกฤตนมปนเปื้อนของจีน...โอกาสขยายตลาดส่งออกไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2312)

คะแนนเฉลี่ย

วิกฤตนมปนเปื้อนสารเมลามีนของจีนถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ เนื่องจากผลกระทบครั้งนี้ได้ขยายจากนมผงสำหรับทารกไปสู่นม/ผลิตภัณฑ์นม และผลิตภัณฑ์ขนม เช่น นมสำหรับผู้ใหญ่ ช๊อกโกแลต ไอศครีม ลูกอม และขนมต่างๆ ที่สำคัญได้ลุกลามจากภายในจีนไปยังประเทศที่เป็นตลาดส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของจีนด้วย คาดว่าจะเป็นปัจจัยท้าทายสำคัญของการเติบโตของอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นมของจีนในปีนี้

ปัญหานมผงปนเปื้อนสารเมลามีนทำให้เด็กทารกในจีนเสียชีวิต 4 คน จากการเป็นนิ่วในไต ป่วยกว่า 60,000 คน อาการอยู่ในขั้นอันตราย 150 คน ทำให้ผู้บริโภคในจีนขาดความเชื่อมั่นต่อสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมที่ผลิตในประเทศ และหันไปบริโภคสินค้าจากต่างประเทศแทน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในจีนที่ไม่สามารถขายน้ำนมดิบได้ ทั้งยังกระทบต่อภาคการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของจีน ซึ่งประเทศที่นำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมจากจีนต่างระงับการนำเข้าทั้งยังห้ามผลิตและจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนประกอบของนมและผลิตภัณฑ์นมจากจีน ซึ่งผู้ผลิตบางรายถึงกับย้ายแหล่งนำเข้าวัตถุดิบไปเป็นประเทศอื่นที่มีมาตรฐานความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือ ภาครัฐของจีนจึงต้องเข้ามาช่วยเหลือและเร่งแก้ปัญหาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กลับคืนมา นับได้ว่าเป็นปัจจัยลบที่คาดว่าจะทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นมของจีนชะลอตัวลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า วิกฤตนมปนเปื้อนสารเมลามีนอาจกดดันให้อุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นมของจีนชะลอลงต่อเนื่องตั้งแต่ปีนี้ถึงปี 2552 และการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยด้านอาหาร มาตรฐานสินค้าและชื่อเสียงของสินค้า ;Made in ” ให้กลับคืนมาคงต้องอาศัยระยะเวลาหนึ่ง

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การผลิตนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนมปนเปื้อนของจีนมากนักเนื่องไทยนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมจากจีนค่อนข้างน้อย แต่การบริโภคสินค้าที่ใช้นมเป็นส่วนประกอบของไทยอาจชะลอตัวในช่วงที่เหลือของปี 2551 เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการบริโภคลงเพราะยังไม่มั่นใจในความปลอดภัยต่อสุขภาพ สำหรับกรณีที่ผู้บริโภคหลายประเทศต่างวิตกถึงอันตรายจากกระแสข่าวนมปนเปื้อนสารเมลามีนทำให้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ด้านคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าหมวดอาหารอื่นๆของจีนด้วย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกอาหารของจีน ทำให้คาดว่าการส่งออกอาหารของไทยอาจได้รับผลดีทางอ้อม โดยสินค้าอาหารส่งออกของไทยที่มีศักยภาพและมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับต้นๆของโลก น่าจะสามารถขยายตลาดไปยังประเทศสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ได้มากขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์ไก่ และผลิตภัณฑ์ผัก/ผลไม้ โดยไทยส่งออกสินค้าอาหารเหล่านี้มีมูลค่าการส่งออก 8 เดือนแรกปี 2551 รวมกว่า 3,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสินค้าอาหารของไทยมีมาตรฐานในการผลิตที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ทั้งยังมีระบบการผลิตและห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพสินค้าส่งออก(Lab)ที่ได้มาตรฐานสากล สามารถสร้างความมั่นใจในด้านความปลอดภัยของสินค้าบริโภคให้แก่ประเทศผู้นำเข้าได้เป็นอย่างดีจึงถือเป็นข้อได้เปรียบด้านหนึ่งของไทยแต่ไทยควรเพิ่มจำนวนห้อง Lab ให้เพียงพอกับปริมาณสินค้าอาหารส่งออกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่ไทยควรคำนึงถึง ได้แก่ การรักษาคุณภาพสินค้าส่งออกให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศที่ขณะนี้มีมาตรการเข้มงวดด้านความปลอดภัยของอาหารและคำนึงถึงผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อให้สินค้าส่งออกของไทยสามารถขยายตลาดได้โดยไม่มีอุปสรรคและได้มาตรฐานเป็นที่น่าเชื่อถือในตลาดต่างประเทศ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า