Display mode (Doesn't show in master page preview)

6 ตุลาคม 2551

อุตสาหกรรม

เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวสร้างความกดดันต่อยอดการส่งออกรถยนต์ไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2310)

คะแนนเฉลี่ย

ในระยะที่ผ่านมาการส่งออกรถยนต์ของไทยมีการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ตลาดรถยนต์ในประเทศกลับหดตัวลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2549 – 2550) และช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 นี้ยอดขายรถยนต์ในประเทศก็ขยายตัวไม่มากนักเพียงร้อยละ 3.9 เท่านั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในช่วง 2 ถึง 3 ปีที่ผ่านมา แต่จากสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และปัญหาสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกรถยนต์ของไทยในช่วงต่อจากนี้ไปจนถึงปีหน้าอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยที่จะมีผลถึงแนวโน้มการส่งออกของไทย โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

ในส่วนภาคการส่งออกของไทยช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการขยายตัวดีในเกือบทุกประเภทรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์นั่ง ซึ่งปัจจัยที่สนับสนุนยอดการส่งออกดังกล่าว นอกจากผลที่เกิดขึ้นจากการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศออสเตรเลีย และประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงการขยายการผลิตรถยนต์นั่งเพื่อการส่งออกของบริษัทรถยนต์หลายแห่ง แล้วยังมาจากปัจจัยด้านอื่น เช่น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมากในช่วงก่อนหน้านี้ส่งผลให้ผู้ซื้อหันมานิยมรถยนต์ขนาดเล็กลง และตรงกับวัตถุประสงค์ในการใช้งานมากขึ้น รวมถึงส่งผลให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน เช่น ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิรัก เป็นต้น มีรายได้จากน้ำมันเพิ่มมากขึ้น จึงมีการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยเช่นรถยนต์เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้การส่งออกไปตลาดใหม่ที่เพิ่มสูงมากก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันยอดการส่งออกรถยนต์ของไทย

ทว่าจากราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวน ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงในหลายภูมิภาค ขณะที่ปัญหาภาคการเงินสหรัฐที่ส่งผลรุนแรงและลุกลามออกไปยังภูมิภาคอื่นในขณะนี้จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสชะลอตัวมากยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มชั้นนำของโลกจะยังไม่สามารถฟื้นตัวในระยะสั้น ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกของไทยมากยิ่งขึ้นในระยะต่อๆไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ ซึ่งจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยรวมถึงเป็นปัจจัยในการผลิตอุตสาหกรรมอย่างหนึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่าปริมาณการส่งออกรถยนต์ของไทยในปี 2552 จะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 8 ชะลอลงกว่าปี 2551 ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 14 ขณะที่มูลค่าการส่งออกอาจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 9.9 ชะลอลงกว่าปี 2551 ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 17 ซึ่งผลดังกล่าวอาจเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ตามแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ระยะที่ 2 (ปี 2550 – 2554) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตรถยนต์เป็น 2 ล้านคันต่อปีให้ได้ภายในปี 2554

ในส่วนของผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องมีการปรับตัวเพื่อรับกับปัญหาวิกฤติการเงินในสหรัฐฯซึ่งมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน และต้นทุนปัจจัยการผลิตบางตัว เช่น น้ำมัน และราคาเหล็ก ที่อาจจะมีทิศทางที่ผันผวน เป็นต้น ผู้ประกอบการจึงควรหาแนวทางในควบคุมต้นทุน เช่น การทำประกันอัตราแลกเปลี่ยน และติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันและเหล็กในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้เพื่อกระจายความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอาจจะใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆที่ไทยไปทำข้อตกลงร่วมด้วย โดยการพยายามผลักดันให้เกิดการค้ากับประเทศเหล่านี้มากขึ้น รวมถึงหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเพื่อกระจายการส่งออก

สำหรับบทบาทของรัฐบาลไทยนั้น การวางแผนการส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ร่วมกับการวางแผนการใช้พลังงานของประเทศในระยะยาว โดยคำนึงถึงอุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวมทั้งระบบ เพื่อสร้างความชัดเจนให้กับนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถยนต์อีโคคาร์ รถยนต์พลังงานร่วมที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีร่วมกับน้ำมัน รถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ที่ใช้แก๊สโซฮอล์อี 85 เป็นต้น ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อทิศทางอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเดินหน้าโครงการต่างๆต่อไปได้ โดยเฉพาะโครงการรถยนต์อีโคคาร์ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อมูลค่าการส่งออกทั้งรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม