วิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ที่มีต้นตอมาจากปัญหาฟองสบู่ในภาคที่อยู่อาศัยและการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ภาคการเงินการธนาคารของสหรัฐฯ ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา และได้แผ่ขยายสู่ตลาดเงินและระบบเศรษฐกิจทั่วโลก โดยในส่วนของผลกระทบต่อภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไทย สิ่งที่เริ่มเห็นได้ก็คือมูลค่าการส่งออกที่ได้เริ่มมีการชะลอตัวลง
ผลกระทบจากวิกฤติการเงินสหรัฐฯ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก และโดยรวม การลงทุนในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงจากภาวะการตึงตัวของสินเชื่อและภาวะเศรษฐกิจ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2552 การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าอาจจะมีการขยายตัวประมาณร้อยละ 3-5 ชะลอตัวลงจากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8-12 ในปี 2551 ส่วนเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2552 อาจมีมูลค่าการส่งออกลดลงหรือขยายตัวในอัตราที่ต่ำ (ไม่เกินร้อยละ 1) จากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0-5 ในปี 2551 ทั้งนี้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังส่งผลให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นซึ่งจะนำมาสู่การแข่งขันด้านราคา โดยการแข่งขันที่มากขึ้นทำให้แนวโน้มอุตสาหกรรมโลกมีทิศทางที่จะมีการควบรวมกิจการระหว่างกัน การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจมากขึ้น และมีแนวโน้มของการจัดจ้างภายนอกเพิ่มขึ้นในอนาคต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเพื่อรับมือกับผลพวงของวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ดังต่อไปนี้
v ในการทำตลาดส่งออก ผู้ประกอบการควรเน้นไปที่ตลาดที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบน้อย ซึ่งในกลุ่มเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ จีน กลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน อเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก โดยความแข็งแกร่งของอุปสงค์ภายในประเทศเหล่านี้และแนวโน้มของการ outsourcing น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของตลาดหลักอันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ได้บางส่วน
v ทางด้านการผลิต ในภาวะที่เศรษฐกิจมีความผันผวนสูง ผู้ส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก อาจปรับตัวโดยการปรับปรุงสายการผลิตให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่มีเข้ามา และใช้โอกาสในการปรับปรุงสินค้าด้านคุณภาพและนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและสร้างโอกาสในการเข้าไปอยู่ในสายการผลิตโลก (global supply chain)
v เช่นเดียวกัน ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ผู้ส่งออกควรให้ความสำคัญกับตลาดส่งออกภายในภูมิภาคและตลาดอื่นๆ เช่น ประเทศในอาเซียน จีน อินเดีย ซึ่งยังเติบโตได้ในอัตราที่ค่อนข้างดี นอกเหนือไปจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศยุโรปบางประเทศซึ่งเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว
v ในการทำธุรกิจผู้ส่งออกควรมีความระมัดระวังในเรื่องความผันผวนของค่าเงิน และมีการเตรียมรับมือกับความเสี่ยงในกรณีที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวรุนแรง
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น