Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 ตุลาคม 2551

เกษตรกรรม

ราคายางลดลงเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ : สาเหตุ ผลกระทบ และทางออก (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2320)

คะแนนเฉลี่ย

ปัจจุบันราคายางพารามีแนวโน้มตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นการลดลงเร็วมากเป็นประวัติการณ์ โดยภายใน 2 สัปดาห์แรกของเดือนตุลาคมราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ลดลงถึง 20 บาทต่อกิโลกรัม จาก 88 บาทต่อกิโลกรัม เหลือ 68 บาทต่อกิโลกรัม และยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดหมายว่าราคามีแนวโน้มต่ำถึงกิโลกรัมละ 40 บาท ในขณะที่ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้ายังทำนิวโลว์ลงไปเรื่อยๆ และมีโอกาสที่จะลดลงต่ำกว่าเมื่อตอนปลายปี 2549 ที่ราคาลงไปอยู่ในระดับ 58 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งในครั้งนั้นราคายางเคลื่อนไหวตามหลักอุปสงค์และอุปทาน แต่มาปี 2551 นี้ และช่วงนี้เป็นช่วงฤดูกาลผลิตที่ผลผลิตยางออกสู่ตลาดมาก ผนวกกับภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา ส่งผลต่อยอดจำหน่ายรถยนต์ ทำให้ความต้องการยางวงล้อและชิ้นส่วนยานยนต์ที่ทำจากยางลดลง ส่งผลต่อเนื่องถึงความต้องการยางไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตมีแนวโน้มลดลงด้วย ทำให้ราคายางน่าจะยังอยู่ในช่วงขาลงต่อไป

ผลกระทบของราคายางตกต่ำเป็นประวัติการณ์ในครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยาง ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ค้ายาง ไปจนถึงผู้ส่งออกยาง ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ โดยคาดว่าในระยะสั้นน่าจะมีการกำหนดราคาขั้นต่ำที่จะเข้าไปแทรกแซง โดยอิงกับต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ คงต้องประสานความร่วมมือกับประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียผ่านทางบริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด ทั้งนี้เพื่อกำหนดปริมาณการส่งออกให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยผ่านการบริหารจัดการเก็บสต็อก ส่วนในระยะยาวนั้นทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องคงต้องหันมาปรับแผนยุทธ์ศาสตร์ยางใหม่ให้มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และดำเนินการตามแผนที่วางไว้อย่างจริงจัง รวมทั้งมีการติดตามประเมินผลความก้าวหน้า และเร่งรัดแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามแผนให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยางของประเทศให้มีขีดความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ที่ผันผวนของตลาดยางโลก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม