Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 ตุลาคม 2551

อุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมเซรามิกปี’52 : วิกฤติการเงินโลก.....ฉุดส่งออกทรุด (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2331)

คะแนนเฉลี่ย

ผลิตภัณฑ์เซรามิกเป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่ต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกที่สำคัญของประเทศที่ไทยในช่วงเดือนมกราคม ถึง เดือนกันยายน ในปี 2551 ได้แก่ ญี่ปุ่น ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 326.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.6 ของการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกของไทยทั้งหมด โดยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกประเภทอื่นๆ เช่น หลอดหรือท่อ และอุปกรณ์ติดตั้ง ผลิตภัณฑ์เซรามิกสำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการทางเคมี ใช้ในทางเกษตรกรรม และใช้ในการลำเลียงหรือบรรจุของ มากที่สุด รองลงมาคือประเทศสหรัฐฯ มีมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 79.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 12.8 ของการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกของไทยทั้งหทมด โดยส่งออกเครื่องสุขภัณฑ์มากที่สุด

เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินของสหรัฐฯ ในช่วงเดือนกันยายน 2551 แล้ว จึงเกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินในสหรัฐฯ และส่งผลต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจทั่วโลก เกิดภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคทั่วโลกต่างลดลงไปด้วย โดยเฉพาะกำลังซื้อของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าแนวโน้มการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกปี 2551 จะชะลอตัวลงมากกว่าเดิม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 834 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 17.3 จากเดิมที่เคยขยายตัวถึงร้อยละ 42.9 ในปี 2550 ส่วนในปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงอย่างมาก โดยน่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.3 หรือคิดเป็นมูลค่า 853 เหรียญสหรัฐฯเท่านั้น ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากยอดการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เซรามิกไทยที่ชะลอตัวหรือลดลงจากปลายปี 2551 และจะส่งผลให้เห็นอย่างชัดเจนในช่วงต้นปี 2552

ผลิตภัณฑ์เซรามิกที่คาดว่าจะมีแนวโน้มการส่งออกที่ลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เซรามิกประเภทวัสดุก่อสร้าง เช่น เครื่องสุขภัณฑ์ต่างๆ กระเบื้องปูพื้น ปิดผนังและโมเสค และเซรามิกประเภทของชำร่วยและเครื่องประดับ ส่วนผลิตภัณฑ์เซรามิกที่คาดว่ามีแนวโน้มการส่งออกที่ชะลอตัวลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เซรามิกประเภทลูกถ้วยไฟฟ้า เพื่อเป็นแนวทางในการปรับตัวสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเซรามิกท่ามกลางกระแสวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน ผู้ประกอบการควรจะควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ลดต้นทุนการผลิต วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมทั้งกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศให้มากขึ้น เพื่อสร้างความสมดุลให้แก่ปริมาณและมูลค่าการส่งออกของผลิตภัณฑ์เซรามิกที่ลดลง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม