Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 ตุลาคม 2551

เกษตรกรรม

ราคาสินค้าเกษตรดิ่งลงในปี’52 : ต้องเร่งปรับตัว...รับสถานการณ์ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2334)

คะแนนเฉลี่ย

จากวิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลก กำลังซื้อมีแนวโน้มลดลง ผนวกกับสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นการจับจ่ายใช้สอยจึงมีแนวโน้มลดลงด้วย ประเทศคู่ค้าของไทยในตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นชะลอนำเข้า และหันมาต่อรองราคาสินค้านำเข้า เมื่อจะหันไปเจาะขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ ก็ไม่ง่ายนัก เนื่องจากตลาดเหล่านั้นก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินในสหรัฐฯเช่นกัน รวมทั้งยังต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรต่างหันไปพึ่งตลาดส่งออกใหม่ๆกันมากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดใหม่บางประเทศยังมีปัญหาในเรื่องการชำระเงิน นอกจากจะต้องเผชิญปัญหากดดันทางด้านตลาดแล้ว ในด้านการผลิตสินค้าเกษตรก็มีปัญหาเรื่องผลผลิตล้นตลาดด้วย เนื่องจากปริมาณการผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีการเพาะปลูก 2551/52 เนื่องจากราคาในปี 2551 อยู่ในเกณฑ์สูงจูงใจให้เกษตรกรขยายการเพาะปลูก ดังนั้น ตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ถึงปี 2552 แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรจะอยู่ในช่วงขาลง รัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเกษตรกรคงต้องเตรียมรับมือ และเร่งหาแนวทางแก้ไข

สำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำในปี 2552 มีประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

Äภายในประเทศ

-นโยบายรัฐบาล ผลกระทบต่อเนื่องจากการที่ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง คือ รายได้ของเกษตรกร อันอาจจะนำไปสู่การที่รัฐบาลต้องออกมาตรการรับจำนำสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อแทรกแซงยกระดับราคาสินค้าเกษตรในตลาด ซึ่งต้องมีการดำเนินการอย่างระมัดระวังเพื่อความเป็นธรรมทั้งกับเกษตรกร และผู้ประกอบการส่งออกสินค้าเกษตร ตลอดจนผู้บริโภคในประเทศ นอกจากนี้ มาตรการที่รัฐบาลจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้คือ การลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะการลดราคาปัจจัยการผลิต ทั้งปุ๋ยเคมี เคมีภัณฑ์ทางการเกษตร และวัตถุดิบอาหารสัตว์ ให้สอดคล้องกับภาวะตลาดอย่างทันท่วงที ซึ่งปัจจัยการผลิตเหล่านี้ไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้า และราคาอิงกับราคาน้ำมัน ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง รัฐบาลคงต้องเจรจากับผู้นำเข้าให้ลดราคาปัจจัยการผลิต ซึ่งจะเป็นการช่วยเกษตรกรทางอ้อมให้สามารถประคองตัวได้ท่ามกลางปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

-การปรับตัวของผู้ประกอบการ ท่ามกลางปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ผู้ประกอบการที่จะสามารถประคองตัวอยู่รอดได้ คือ ผู้ที่ปรับตัวทันรับกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด โดยหันไปผลิตสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยสินค้าที่จะขายดีคือ สินค้าอาหารทั่วไปที่ราคาไม่แพงมากนัก เช่น ปลากระป๋อง บะหมี่สำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูปแช่เย็นแช่แข็ง เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอาจจะต้องหันมาให้น้ำหนักกับตลาดในประเทศมากขึ้น

Äการส่งออก

-ตลาดส่งออกหลัก แม้ว่าตลาดส่งออกหลักของสินค้าเกษตรไทย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และจีน ต่างประสบปัญหาเศรษฐกิจซบเซา ทำให้การขยายการส่งออกไปยังตลาดส่งออกหลักเหล่านี้ทำได้ลำบาก แต่ผู้ประกอบการบางรายยังสามารถปรับสินค้าให้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคในต่างประเทศ โดยเฉพาะการเน้นการผลิตอาหารแปรรูปที่ราคาไม่แพงมากนัก เนื่องจากกำลังซื้อที่ลดลง ทำให้มีการลดความถี่ในการออกไปบริโภคอาหารนอกบ้าน ดังนั้น จึงนับเป็นโอกาสในการเติบโตของอาหารสำเร็จรูปประเภทต่างๆ

-การเจาะขยายตลาดใหม่ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรของไทยหันไปพึ่งตลาดใหม่มากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพิงตลาดส่งออกหลัก ตลาดที่ยังน่าสนใจในปี 2552 เนื่องจากคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซานี้ค่อนข้างน้อย และยังเป็นตลาดที่สินค้าเกษตรไทยมีโอกาสเติบโต คือ ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน

-ความร่วมมือระหว่างประเทศ ผู้ส่งออกของไทยต้องเร่งสร้างความแข็งแกร่งในความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรประเภทเดียวกัน เช่น ข้าว ยางพารา เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองกับประเทศผู้ซื้อ เนื่องจากการแข่งขันกันเองในระหว่างประเทศผู้ผลิตด้วยกันเป็นโอกาสที่ประเทศผู้ซื้อจะมีอำนาจการต่อรองที่เหนือกว่า นอกจากนี้ ความร่วมมือกันนั้นหมายถึงการควบคุมปริมาณการผลิต และการส่งออก ทั้งนี้ เพื่อสร้างเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม