Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 พฤศจิกายน 2551

การค้า

FTA …อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทยขาดดุลกับญี่ปุ่นและจีนเพิ่มขึ้น (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2346)

คะแนนเฉลี่ย

จนถึงปัจจุบันประเทศไทยได้มีการเจรจาเปิดเขตเสรีการค้า (FTA) กับนานาประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วกับ 5 ประเทศ และอีก 1 กลุ่มประเทศ ประกอบด้วย เขตเสรีการค้าไทย-จีน ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบอาเซียน-จีน (ACFTA) เขตเสรีการค้าไทย-อินเดีย (ITFTA) เขตเสรีการค้าไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) เขตเสรีการค้าไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) เขตเสรีการค้าไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และเขตเสรีการค้าไทย-อาเซียน (AFTA) ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทยภายใต้การเปิดเขตเสรีการค้าในแง่มุมต่างๆ โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

สถานการณ์ตลาดระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทยในปัจจุบัน ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์มีการขยายตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนร้อยละ 26.4 ส่วนมูลค่าการนำเข้าชิ้นส่วนนั้นก็ขยายตัวขึ้นถึงร้อยละ 27.3 ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ไทยมีดุลการค้าเฉพาะชิ้นส่วนรถยนต์เกินดุลเป็นมูลค่า 848.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจากมูลค่าการตลาดกับประเทศที่ไทยทำ FTA และมีผลบังคับใช้แล้วนั้นพบว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังประเทศดังกล่าวมีการ ขยายตัวขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนร้อยละ 40.7 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 61.4 ของมูลค่าการส่งออกรวมของชิ้นส่วนรถยนต์ไทย โดยเป็นมูลค่าการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนมากที่สุด รองลงมาคือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย จีน และนิวซีแลนด์ ตามลำดับ ส่วนมูลค่าการนำเข้าจากประเทศคู่เจรจาเหล่านี้ในช่วงเดียวกันมีการขยายตัวขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 22.7 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 82.9 ของมูลค่าการนำเข้ารวมของชิ้นส่วนรถยนต์ไทย โดยเป็นมูลค่าการนำเข้าจากญี่ปุ่นมากที่สุด รองลงมาคือ กลุ่มประเทศอาเซียน จีน อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามแม้ว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ไทยมีดุลการค้าเฉพาะชิ้นส่วนรถยนต์โดยรวมทั้งหมดเกินดุลก็ตาม แต่จากตัวเลขการค้ากับประเทศคู่เจรจา FTA ไทยกลับขาดดุลเป็นมูลค่าประมาณ 135.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยขาดดุลกับญี่ปุ่นสูงสุดและเพิ่มขึ้นจากช่วง 9 เดือนแรกของปีที่แล้วร้อยละ 13.3 และขาดดุลกับจีนเพิ่มขึ้นอย่างมากถึงร้อยละ 85.8 ขณะที่คู่เจรจาอื่นๆไทยเกินดุลทั้งหมด ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นว่า FTA นั้นไม่เพียงสร้างโอกาสทางการค้าให้ไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นความท้าทายต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ในไทยด้วยที่ต้องรับมือกับคู่แข่งจากต่างประเทศที่มีศักยภาพในการแข่งขัน

โดยในส่วนของประโยชน์และโอกาสจาก FTA ที่ไทยได้รับ คือ การทำให้ตลาดส่งออกของไทยขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้ไทยต้องมีการรพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น รวมถึงทำให้มีการพัฒนาความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ให้มีความประหยัดต่อขนาด นอกจากนี้ FTA จะทำให้เกิดการลงทุนระหว่างกันมากขึ้นทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกัน ส่วนผลทางอ้อมที่จะได้รับ คือ การลดอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบ เช่นเหล็กรีดร้อนจากญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความได้เปรียบด้านต้นทุนของผู้ผลิตไทยในการแข่งขันกับต่างประเทศ แต่ FTA ก็เป็นความท้าทายหนึ่งของผู้ประกอบการด้วย ทำให้มีชิ้นส่วนสำเร็จรูปชนิดเดียวกันหรือมีความคล้ายคลึงกันจากคู่แข่งภายนอกประเทศมากขึ้น รวมถึงการเข้ามาของผู้ประกอบการต่างชาติ เช่นจากญี่ปุ่น ซึ่งมาลงทุนผลิตแข่งขันกับผู้ประกอบการในไทยด้วย นอกจากนี้ยังส่งผลให้การลงทุนด้านเทคโนโลยีระดับสูงจากญี่ปุ่นอาจจะลดลงเนื่องจากสามารถนำเข้าชิ้นส่วนที่ผลิตในญี่ปุ่นได้โดยตรงเพราะกำแพงภาษีที่ลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน การพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีตามมา และเมื่อกำแพงภาษีหายไปอาจทำให้บางประเทศหันไปใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีแทน

โดยสรุป FTA ไม่เพียงสร้างโอกาสในการขยายการส่งออกชิ้นส่วนของไทยเท่านั้น แต่การทำ FTA กับบางประเทศกลับยิ่งเป็นการทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับประเทศเหล่านั้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นและจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนโดยเฉพาะในรายผู้ประกอบการคนไทย และเอสเอ็มอีที่จะต้องพยายามหาตลาดใหม่อยู่เสมอ และผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตมากขึ้น รวมถึงการพยายามให้มีความประหยัดต่อขนาดเพื่อลดต้นทุนการผลิตลงเพื่อให้ราคาสินค้ามีความเหมาะสมและสามารถแข่งขันในตลาดได้ อย่างไรก็ตามในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศที่ไทยมีการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไปค่อนข้างมากนั้น ทำให้มูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไทยในปีนี้จะชะลอลงโดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 21.5 จากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 40.9 ในปีก่อนหน้าและคาดว่าจะชะลอตัวลงต่อเนื่องในปี 2552 ด้วย ความร่วมมือจากภาครัฐจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการทำ FTA เพิ่มเติมนั้น ต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะกับจีนซึ่งมีการผลิตสินค้าในกลุ่มยานยนต์มากและมีค่าจ้างแรงงานต่ำ รัฐจึงควรต้องพิจารณาในด้านความพร้อมของผู้ผลิตไทยและกรอบระยะเวลาการเปิดเสรีเป็นสำคัญ ประกอบกับความพร้อมของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย รวมถึงมีการเตรียมการรับมือในเรื่องมาตรการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าโดยการใช้มาตรการที่ไม่ใช้ภาษีที่อาจจะตามออกมาจากประเทศที่ไทยทำการเจรจาด้วย ในส่วนของผู้ผลิตไทย ในระยะสั้นนี้อาจต้องมีการปรับแผนการผลิตในปีหน้าให้สอดคล้องกับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ทั้งในประเทศและที่ใช้ส่งออก รวมถึงการหาแนวทางการควบคุมต้นทุน เช่น การประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งมีแนวโน้มผันผวนสูง รวมถึงการใช้ประโยชน์จากการทำ FTA โดยพยายามให้เกิดการค้ากับประเทศเหล่านี้มากขึ้น ส่วนในระยะยาวควรหาวิธีการลดต้นทุนการผลิตลง โดยการเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิต เช่น การลงทุนด้านเทคโนโลยีในการผลิต รวมถึงการพัฒนาบุคลากรของบริษัท และการศึกษาวิจัยด้านการตลาดของแต่ละประเทศให้มากขึ้น เพื่อให้เข้าใจความต้องการของผู้บริโภคของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า

FTA