Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 พฤศจิกายน 2551

เกษตรกรรม

พืชพลังงานปี 2552: ผลกระทบและแนวทางการปรับตัว (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2115)

คะแนนเฉลี่ย

จากปัญหาวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2551 จนส่งผลกระทบไปยังภาคเศรษฐกิจและภาคการเงินทั้งในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงประเทศแถบเอเชีย และมีสัญญาณว่ากำลังจะลุกลามจนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปทั่วโลก ขณะเดียวกันช่วงต้นปี 2551 จนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ทะยานสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จนกระทั่งวิ่งขึ้นไปสู่จุดสูงสุดที่ 147.27 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลในวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 และปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงมาอยู่ที่ราคาเฉลี่ย 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลในเดือนตุลาคมปี 2551 ทำให้หลายประเทศต่างหวาดวิตกถึงผลกระทบจากปัญหาวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ว่าจะมีความรุนแรงเพียงใด ซึ่งผลพวงจากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ลดลงมาก ขณะเดียวกันสหรัฐฯ เองก็เป็นประเทศที่บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก ดังนั้น การที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงมาก ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า ดังนั้น คาดการณ์ว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2552

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของโลก และภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ส่วนต่างของราคาน้ำมันปิโตรเลียมกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพปรับตัวลดลง ส่งผลกระทบทำให้ความต้องการใช้พืชพลังงานลดลง สำหรับปี 2552 คาดว่า แนวโน้มความต้องการพืชพลังงานจะลดลงจากปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่ราคาพืชพลังงานปรับตัวสูงมากเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากทั่วโลกต่างกังวลเกี่ยวกับวิกฤตด้านอาหารและด้านพลังงานที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2551 ทำให้หลายประเทศต่างหันมาสนใจพลังงานทดแทนกันมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่า ปี 2552 ราคาพืชพลังงานในประเทศจะทรงตัวในระดับเดียวกับช่วงครึ่งหลังปี 2551 โดยมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทั้งปริมาณผลผลิตพืชน้ำมันของโลกที่เพิ่มขึ้น แรงกดดันจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และความกังวลต่อปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ผลกระทบและเสนอแนะแนวทางการปรับตัวของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยพิจารณาผลกระทบที่มีต่อเกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงาน ผู้ประกอบการที่ลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน และผู้บริโภค รวมทั้งผลกระทบต่อนโยบายพลังงานของภาครัฐ

ทั้งนี้ อนาคตของธุรกิจพลังงานทดแทนของไทยขึ้นอยู่กับความชัดเจนในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ ซึ่งหากพิจารณาทางด้านความคุ้มทุนในการผลิตพลังงานชีวภาพเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่หากพิจารณาถึงความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยในระยะยาวแล้ว ภาครัฐจึงน่าจะยังคงมีความจำเป็นในการพัฒนาพลังงานชีวภาพทั้งเอทานอลและไบโอดีเซลเพื่อเป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่สำคัญของประเทศในระยะยาวอยู่ต่อไป และในอีกทางหนึ่งก็เป็นการช่วยลดการพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ดังนั้น ในระยะยาวแล้วภาครัฐก็จะต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างจริงจังและโดยต่อเนื่อง เพื่อช่วยผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนของไทยให้เกิดผลสำเร็จสูงสุดเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของไทยในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม