การใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ทำจากปิโตรเคมีนั้นได้ก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องของการกำจัดขยะ ซึ่งกระบวนการกำจัดขยะนั้นก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งปัญหาของการแข่งขันที่รุนแรงจากจำนวนผู้ผลิตที่มีมากขึ้น แนวโน้มของการค้าที่เปิดเสรีมากขึ้นทำให้ประเทศต่างๆ มีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีมากขึ้น ส่งผลให้ในปัจจุบันพลาสติกชีวภาพ (Biodegradable Plastics) ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากพลาสติกชีวภาพผลิตมาจากพืช เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย เป็นต้น ซึ่งพลาสติกชีวภาพสามารถย่อยสลายได้เมื่อถูกทิ้งไปเป็นขยะหรือถูกฝังกลบอีกทั้งพลาสติกชีวภาพยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถส่งออกไปยังประเทศที่ค่อนข้างเข้มงวดในมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมได้ด้วย
ปัจจุบันประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะเป็นประเทศผู้นำในด้านการผลิตและการบริโภคพลาสติกชีวภาพ เช่น ตลาดพลาสติกชีวภาพในสหภาพยุโรปมีการขยายตัวสูง ซึ่งสมาคมพลาสติกชีวภาพยุโรปได้คาดการณ์ว่าตลาดพลาสติกชีวภาพจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะมีอัตราการเจริญเติบโตมากกว่าร้อยละ 20 ต่อปี แต่ราคาของผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพค่อนข้างจะมีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเคมี เพราะต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงเนื่องจากขนาดการผลิตที่น้อยจึงไม่เกิดการประหยัดต่อขนาด
อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในประเทศไทยนั้นยังอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยปัจจุบันไทยยังไม่สามารถผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพได้เองเนื่องจากขาดเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญ แต่ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะมันสำปะหลังซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ไทยมีความสามารถในการเพาะปลูกและมีราคาโดยเปรียบเทียบถูกกว่าผลผลิตทางการเกษตรชนิดอื่น ประกอบกับไทยยังมีอุตสาหกรรมปลายน้ำ คือ อุตสาหกรรมการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง อีกทั้งประเทศที่เป็นประเทศผู้นำด้านการผลิตและบริโภคพลาสติกชีวภาพยังคงมีปริมาณการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพภายในประเทศไม่เพียงพอ จึงกำลังแสวงหาแหล่งผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพแห่งใหม่ ซึ่งประเทศไทยค่อนข้างจะมีความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบทางการเกษตร จากความได้เปรียบและเสียเปรียบของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า จากการที่ไทยยังขาดเทคโนโลยีในการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนให้มีโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศกับประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี พร้อมกับประชาสัมพันธ์และให้ความรู้กับผู้บริโภคเกี่ยวกับประโยชน์ที่เกิดจากการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ เพื่อให้มีตลาดที่กว้างขึ้นช่วยให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพเกิดการประหยัดต่อขนาด และการมีฐานการผลิตที่แข็งแกร่งก็จะเอื้อประโยชน์ต่อการแข่งขันสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพไปยังตลาดโลก
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น