Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 พฤศจิกายน 2551

อุตสาหกรรม

ผลกระทบจากวิกฤติการเงินสหรัฐฯ ต่อแรงงานไทยในอุตสาหกรรมการผลิต (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2118)

คะแนนเฉลี่ย

จากผลกระทบของวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลทางอ้อมต่อการส่งออก เศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าในปี 2552 อัตราการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 2.2 – 2.6 หรือคิดเป็นจำนวนคนว่างงานประมาณ 8.5 แสนถึง 1 ล้านคน แต่หากรัฐบาลมีมาตรการที่จะรองรับ เร่งสร้างงานและแรงจูงใจให้กับธุรกิจให้รักษาลูกจ้าง จำนวนผู้ว่างงานในปี 2552 ก็อาจลดลงมาอยู่ที่ 7.3 แสนคน (อัตราว่างงานร้อยละ 1.9) ได้ โดยกลุ่มแรงงานที่จะได้รับผลกระทบมาก คือ แรงงานที่เพิ่งจบใหม่ แรงงานนอกระบบ และแรงงานที่เป็นพนักงานชั่วคราว แรงงานที่อยู่ในภาคท่องเที่ยว และในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดตามมาจากการว่างงานก็คือ การใช้จ่ายในประเทศในปีหน้าซึ่งอาจหายไปเป็นมูลค่า 4-5 หมื่นล้านบาท (ประมาณร้อยละ 1 ของการบริโภคในประเทศ)

จากการวิเคราะห์ผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจต่อการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญ พบว่าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกสูง ใช้เทคโนโลยีในการผลิต และเป็นเครือข่ายของบริษัทข้ามชาติ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะมีการว่างงานประมาณ 87,000 ถึง 116,000 คน ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และระหว่าง 12,500 ถึง 20,000 คนในอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนตามลำดับ ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นใช้แรงงาน ประเมินว่าการจ้างงานมีแนวโน้มที่จะลดลงประมาณ 3-4 แสนคน

ทั้งนี้ ผลกระทบของการปิดโรงงานหรือการเลิกจ้างไม่เพียงแต่กระทบแรงงานที่มีการจ้างงานโดยตรงอยู่ในโรงงานเท่านั้น แรงงานที่เป็นการจ้างงานทางอ้อมในอุตสาหกรรมหรือภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนครอบครัวของแรงงานก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ภาครัฐจึงจำเป็นต้องมีนโยบายรับมือกับปัญหาการเลิกจ้างที่เข้มข้นและครอบคลุมมากขึ้นจากที่ผ่านมา มาตรการส่วนใหญ่ที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นการใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ การช่วยเหลือโดยการเพิ่มสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอี เป็นการช่วยเหลือด้านนายจ้างทางตรงและช่วยเหลือแรงงานทางอ้อม และอาจไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นยอดขายและการผลิต และทำให้บริษัทไม่ลดการจ้างพนักงานหรือรับประกันว่าจะมีการให้ค่าชดเชยแก่พนักงานตามสิทธิที่พึงได้ในกรณีที่มีการเลิกจ้าง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

มองว่าการช่วยให้บริษัทหรือโรงงานไทยที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการเลิกกิจการในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รัฐอาจควรพิจารณามาตรการอื่นๆ ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มเติม อาทิ การจัดให้มีเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การลดหย่อนภาษี การช่วยเปิดตลาดส่งออกอย่างจริงจัง และการดูแลค่าเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อกันไม่ให้ต้นทุนชิ้นส่วนนำเข้าและการขายได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ภาครัฐควรมีกลไกที่จะติดตามสถานการณ์แรงงานของกลุ่มอุตสาหกรรมหรือโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการเลิกกิจการอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะสามารถเข้าไปให้การช่วยเหลือตามความเหมาะสมได้อย่างทันท่วงที ภาครัฐควรมีมาตรการรองรับสำหรับกลุ่มคนที่จะถูกเลิกจ้าง และแรงงานใหม่ที่จะไม่มีงานทำ ไม่ว่าจะเป็นโดยการตั้งกองทุนช่วยเหลือเป็นเงินพิเศษให้กู้ยืม การคุ้มครองสิทธิของแรงงานที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรม และการพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ภาครัฐอาจควรพิจารณาโครงการที่เป็นการสร้างงานในชนบท โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคการเกษตรเพื่อเป็นการรองรับคนตกงานที่จะกลับสู่ภูมิลำเนา ทั้งนี้ในระยะยาวรัฐควรความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและภาคธุรกิจเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะในภาคอุตสาหกรรมการผลิตอย่างจริงจัง

ด้านแรงงาน ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ธุรกิจต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งทางด้านยอดขายและต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้สถานประกอบการบางแห่งอาจเลือกที่จะลดค่าใช้จ่ายโดยการเลิกจ้าง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาว่าแรงงานเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญในแง่ที่ว่าแรงงานที่ดีจึงจะให้ผลผลิตที่ดี ผู้ผลิตอาจควรพิจารณาการจ้างงานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นโดยการปรับลด/เพิ่มชั่วโมงหรือวันในการทำงานตามสภาพธุรกิจแทนการเลิกจ้างถาวร และใช้โอกาสนี้ในการฝึกอบรมงานหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้แก่พนักงานซึ่งจะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว(คุณภาพของสินค้าที่ดีขึ้น และการผลิตมีการสูญเสียลดลง) และเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน และยังเป็นการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างและนายจ้างที่ดีให้มั่นคงอีกด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม