Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 พฤศจิกายน 2551

อุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมเอทานอลปี 2552 ชะลอตัว...ท่ามกลางหลากปัจจัยเสี่ยง (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2361)

คะแนนเฉลี่ย

อุตสาหกรรมการผลิตเอทานอลส่วนใหญ่ผลิตจากผลิตผลทางการเกษตร ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าว ข้าวฟ่างหวาน และถั่วเหลือง เป็นต้น ทั้งนี้ การผลิตเอทานอลในประเทศส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบจากพืชพลังงานที่สำคัญคือ กากน้ำตาลจากอ้อย และมันสำปะหลัง ซึ่งประเทศไทยเองมีศักยภาพและความพร้อมด้านวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลสูง สำหรับโรงงานผู้ผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพภายในประเทศมักใช้วัตถุดิบจากกากน้ำตาลเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ต่อยอดมาจากโรงงานน้ำตาลจึงทำให้มีความได้เปรียบด้านการผลิตและการประหยัดจากขนาด ส่วนจำนวนโรงงานผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังยังมีไม่มาก

สำหรับอุตสาหกรรมเอทานอลปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะยังมีแนวโน้มเติบโตได้แต่มีอัตราที่ชะลอลงจากปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่ราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงประมาณ 80-100 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ทำให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างน้ำมันแก๊สโซฮอล์กันมากขึ้น เนื่องจากแรงจูงใจด้านปัจจัยราคาเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันปิโตรเลียมมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ของผู้บริโภค และจากการคาดการณ์ของหลายฝ่ายระบุว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปี 2552 จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับไม่เกิน 60-70 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนอาจหันไปใช้น้ำมันปิโตรเลียมกันมากขึ้นอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการใช้เอทานอลจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่เพิ่มขึ้น

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ไทยมีความพร้อมด้านการผลิตพืชพลังงานทั้งอ้อยและมันสำปะหลังมาก อีกทั้งมาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยใช้นโยบายส่วนต่างราคาน้ำมันปิโตรเลียมกับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และมาตรการเพิ่มสัดส่วนการผสมเอทานอลลงในน้ำมันเบนซินให้มากขึ้น ตลอดจนรัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนทั้งหมดจากร้อยละ 0.5 เป็นร้อยละ 20 ภายในปี 2565 ประกอบกับการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันภายใต้มาตรการ 6 เดือน 6 มาตรการซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มกราคม 2552 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ราคาจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศปรับตัวสูงขึ้นได้ อีกทั้งผู้ค้าน้ำมันต่างหันมาขยายสถานีบริการน้ำมันแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันทั่วโลกต่างสนใจหันมาใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงชีวภาพกันมากขึ้น

ขณะที่อุตสาหกรรมเอทานอลก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่พึงระวังจากอุปทานการผลิตเอทานอลที่ยังกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่มาก และในภาวะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงผันผวนสูงก็อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเลือกใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ของผู้บริโภคได้ และปัญหาปริมาณผลผลิตธัญพืชของโลกในปี 2551/2552 ที่จะขยายตัวจากปีก่อนโดยเฉพาะข้าวโพดและถั่วเหลือง อีกทั้งปัญหาวิกฤตการเงินในสหรัฐฯซึ่งคาดการณ์ว่า จะลุกลามทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของโลกลดลงตาม ขณะเดียวกันยังมีความเสี่ยงจากการเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงจากเดิมที่นักลงทุนมีการเข้าไปเก็งกำไรในตลาดดังกล่าวค่อนข้างมาก ทำให้แนวโน้มราคาเอทานอลในประเทศจะปรับตัวลดลงตามราคาเอทานอลในตลาดซื้อขายล่วงหน้าของโลก

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจที่รัฐบาลควรพิจารณา คือ ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ ทำให้ส่วนต่างของราคาน้ำมันปิโตรเลียมและราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ลดลง และอาจทำให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมันปิโตรเลียมกันมากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศไทยในอนาคต ดังนั้น ภาครัฐควรวางแนวทางที่ชัดเจนในการรับมือกับปัญหาความผันผวนของราคาน้ำมันที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานทดแทนของไทยในระยะยาวต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม