แม้ที่ผ่านมาการส่งออกรถยนต์ของไทยจะมีการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง แต่จากสภาพเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน รวมถึงสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในหลายประเทศทั่วโลกที่ไม่สู้ดีนัก ย่อมกระทบกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยซึ่งนับวันก็จะยิ่งพึ่งพาการส่งออกมากขึ้นนั้น ย่อมจะได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพตลาดส่งออกชะลอตัวลงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในปัจจุบันและทิศทางการส่งออกของไทย โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
ทั้งนี้จากรายงานยอดส่งออกเดือนตุลาคมแม้ว่าจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็พบว่ายอดส่งออกรถยนต์สะสม 10 เดือนมีการขยายตัวที่ชะลอลงต่อเนื่องมา 3 เดือนแล้ว และจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างรุนแรงนี้ ทำให้คาดได้ว่าแนวโน้มการขยายตัวของการส่งออกในช่วงต่อไปจะชะลอลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีสัญญาณจากการชะลอตัวลงจากการที่ค่ายรถในประเทศเริ่มทยอยลดกำลังการผลิตลง ลดจำนวนแรงงาน รวมถึงการให้พนักงานหยุดงานและจ่ายค่าจ้างน้อยลง และจากคำสั่งซื้อรถยนต์จากตลาดต่างประเทศที่ลดลง ทำให้บางค่ายต้องทำการขอเพิ่มสัดส่วนประเทศส่งออกไปยังตลาดใหม่จากทางบริษัทแม่ ซึ่งมาตรการต่างๆเหล่านี้ต่างก็หวังว่าจะช่วยผ่อนคลายความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามการขยายการส่งออกรถยนต์ไปยังตลาดใหม่คงจะไม่ง่ายนัก เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าวขยายออกไปในหลายๆประเทศ ซึ่งแม้ประเทศที่ไทยส่งออกไปจะไม่ได้รับผลกระทบทางตรง แต่ก็ย่อมได้รับผลกระทบทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับประเทศที่เป็นตลาดสำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่ทั้งหลายต่างก็เผชิญกับปัญหาอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลงอย่างหนัก ทำให้บริษัทรถยนต์ในประเทศเหล่านี้บางส่วนต้องหันไปหาการส่งออกมากขึ้น ทำให้ตลาดการส่งออกในปัจจุบันและในระยะต่อไปต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทำให้การหาตลาดใหม่เพื่อการขยายการส่งออกอาจไม่ง่ายดังเดิม และจากวิกฤติการเงินในครั้งนี้ได้ส่งผลให้สถาบันการเงินในประเทศต่างๆเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยกู้มากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายดังเช่นที่ผ่านมา และยังมีผลกับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆที่เข้าถึงเงินกู้ได้ยากขึ้นทำให้สภาพคล่องในการดำเนินงานต่ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจ้างงาน ดังนั้นผู้บริโภคปัจจุบันจึงจำเป็นต้องระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น
จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังที่กล่าวมาข้างต้นและปัญหาการชะลอตัวของตลาดรถยนต์ทั่วโลก ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าทิศทางการส่งออกรถยนต์ของไทยในปี2551 น่าจะขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 14 จากที่เติบโตร้อยละ 28 ในปี 2550ส่วนในปี 2552 คาดว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกปี 2552 อาจจะชะลอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนตุลาคมที่ประมาณร้อยละ 8 โดยแบ่งตามความรุนแรงของกรณีที่จะเกิดขึ้น คือ กรณีพื้นฐานซึ่งเป็นกรณีที่ตลาดส่งออกรถยนต์ของไทยได้รับผลกระทบไม่ยืดเยื้อ หรือไทยสามารถขยายตลาดการส่งออกไปยังตลาดใหม่ได้ รวมถึงมีความพยายามที่จะสร้างไลน์การผลิตรถยนต์เซ็กเมนต์ใหม่ๆเพิ่มเติมเข้ามาในตลาดทันสำหรับการทำตลาดได้ภายในปีหน้า หรือมีการโยกฐานการผลิตบางส่วนเข้ามาในไทย ส่วนกรณีเลวร้ายจะเป็นกรณีที่ไม่มีกำลังการผลิตและการทำตลาดเพิ่มเติมขึ้นมา ภายหลังจากการลดกำลังการผลิตโดยค่ายรถยนต์ต่างๆถึงช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2552 โดยตัวเลขประมาณการแสดงดังตารางต่อไปนี้
|
2007
|
2008
|
2009
|
กรณีพื้นฐาน
|
กรณีเลวร้าย
|
ปริมาณการส่งออก (คัน)
|
690,100
|
790,000
|
751,000 ถึง 719,000
|
711,000 ถึง 679,000
|
อัตราการขยายตัว (ร้อยละ)
|
28
|
14
|
-5 ถึง -9
|
-10 ถึง -14
|
อย่างไรก็ตาม ทิศทางการส่งออกยังขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความยืดเยื้อของวิกฤติเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะมีผลต่อตลาดต่างประเทศที่ไทยส่งออกไป รวมถึงหากบริษัทแม่มีการวางแผนโยกย้ายฐานการผลิตบางส่วนเข้ามาในไทยและมีการขยายตลาดการส่งออกมากขึ้น ก็อาจจะช่วยให้ความรุนแรงของผลกระทบต่ออุตสาหกรรมลดลงได้ ซึ่งภาครัฐอาจใช้โอกาสนี้ในการช่วยเหลือโดยการเพิ่มความสะดวกในการลงทุน และความน่าลงทุนของไทยเพื่อเป็นการกระตุ้นการลงทุนผลิตเพื่อการส่งออกจากต่างชาติ ส่วนบริษัทผู้ผลิตรถยนต์นั้น
แม้ข่าวที่ออกมาจะสื่อให้เห็นถึงทิศทางอุตสาหกรรมที่แย่ลงอย่างรุนแรงนั้น แต่คาดว่าด้วยสถานะที่ไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติในครั้งนี้ ประกอบกับไทยเป็นประเทศที่เป็นฐานตลาดขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีฐานตลาดส่งออกที่กระจายไปยังกลุ่มประเทศต่างๆทั่วโลก ทำให้ผลกระทบดังกล่าวที่เกิดขึ้นน่าจะไม่ยืดเยื้อนาน อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการลดกำลังการผลิตจำนวนมากนี้ อาจต้องหาแนวทางในการปรับแผนการผลิต และการตลาดของตนให้มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ แต่ยังต้องคงความรัดกุมและมีความระมัดระวังยิ่งขึ้นตามไปด้วย รวมถึงใช้โอกาสนี้ในการพัฒนามาตรฐานเทคโนโลยีเพื่อเตรียมรองรับตลาดใหม่ เช่น รถยนต์นั่งขนาดเล็กอย่างอีโคคาร์ หรือรถประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งคาดว่าจะเป็นแนวโน้มการตลาดรถยนต์ในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งแม้ว่าตลาดรถยนต์ไทยในช่วง 1 ถึง 2 ปีนี้อาจจะดูซบเซาไปบ้าง แต่ด้วยความแข็งแกร่งของพื้นฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยทั้งระบบ รวมถึงการให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมนี้โดยภาครัฐอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะยังคงมีการลงทุนต่อเนื่องในอนาคต อย่างไรก็ตามการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองก็ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการตัดสินใจเรื่องแผนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในระยะข้างหน้า
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น