ยอดขายรถยนต์เดือนตุลาคมพบว่าหดตัวลงถึงประมาณร้อยละ 15.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะเป็นช่วงที่ปกติมีการขยายตัวของยอดขายสูงก็ตาม ส่งผลให้ตัวเลขยอดขายในประเทศ 10 เดือนแรกหดตัวลงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน อย่างไรก็ตามทิศทางของยอดขายรถยนต์ในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้มีโอกาสที่จะชะลอลงกว่าช่วงก่อนหน้า โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์แนวโน้มตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2551 และปี 2552 โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
วิกฤติทางการเงินในสหรัฐฯที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมากตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการส่งออกของไทย จนทำให้บางกิจการจำเป็นต้องปิดกิจการหรือลดพนักงานลง และการที่ราคาสินค้าเกษตรของไทยปรับลดลง ล้วนส่งผลกระทบในทางลบต่อความเชื่อมั่นและอำนาจซื้อของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายระมัดระวังมากยิ่งขึ้นและมีความสามารถในการใช้จ่ายเพื่อบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์ลดลง นอกจากนี้การที่สถาบันการเงินต่างต้องระมัดระวังมากขึ้นในการให้สินเชื่อ ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายดังอดีตจึงส่งผลต่อยอดขายรถยนต์ตามมา แม้ค่ายรถยนต์ต่างๆจะเร่งกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย รวมไปถึงงานมหกรรมยานยนต์ในช่วงวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึง 10 ธันวาคมนี้ แต่ก็อาจกระตุ้นยอดขายไม่ได้ตามเป้า ดังนั้นจากปัจจัยต่างๆที่กล่าวมาเบื้องต้นทำให้คาดว่ายอดขายในช่วง 2 เดือนสุดท้ายนี้จะชะลอลงต่อเนื่อง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าทิศทางของยอดขายรถยนต์โดยรวมปี 2551 นี้น่าจะหดตัวลง โดยยอดขายรถยนต์ในประเทศตลอดปีคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 615,875 คัน ลดลงประมาณร้อยละ 2.4 จากปี 2550 ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 นับตั้งแต่ปี 2549
ส่วนแนวโน้มตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2552 นั้นยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเป็นผลมาจากปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ผลกระทบจากวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ และสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งหากสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าอย่างที่หลายฝ่ายออกมาคาดกัน เชื่อว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อยอดขายรถยนต์ในประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม ตลาดรถยนต์ในประเทศก็ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนที่อาจจะช่วยส่งเสริมยอดขายให้ปรับตัวดีขึ้นได้เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ปัจจัยบวกที่สำคัญ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงินซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงขาลง และหากราคาน้ำมันทรงตัวในระดับต่ำดังเช่นปัจจุบันไปอย่างต่อเนื่องหรือปรับขึ้นไม่มากนัก ก็อาจช่วยให้ผู้บริโภคลดความกังวลด้านราคาน้ำมันลง รวมถึงมาตรการต่างๆของภาครัฐที่จะออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการช่วยเหลือด้านราคาพืชผลการเกษตรสำหรับเกษตรกร ขณะเดียวกันการทำตลาดของค่ายรถต่างๆเพื่อกระตุ้นยอดขายซึ่งคาดว่าจะมีออกมาอย่างต่อเนื่องนั้น น่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายรถยนต์ในประเทศได้บ้าง
โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศปีหน้าจะอยู่ระหว่าง 540,000 ถึง 580,000 คัน หรือหดตัวร้อยละ 5.8 ถึง 12.3 ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของผลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลสะท้อนมาสู่เศรษฐกิจไทยในปีหน้า และสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่อาจคาดเดาได้ในขณะนี้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ทั้งนี้คาดว่ายอดขายจะหดตัวลงค่อนข้างรุนแรงในช่วงครึ่งปีแรกจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีความรุนแรง อย่างไรก็ดีการฟื้นตัวน่าจะเริ่มเห็นในช่วงครึ่งปีหลัง ถ้าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยก้าวผ่านช่วงจุดต่ำสุดไปแล้ว ประกอบกับเมื่อเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในครึ่งหลังของปี 2551 อาจจะทำให้ยอดขายรถยนต์ในครึ่งหลังของปี 2552 ขยายตัวดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น