อุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐฯเริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤติ หลังแผนช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์แก่ค่ายบิ๊กทรีมูลค่า 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯไม่ผ่านความเห็นชอบในขั้นวุฒิสภา ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมานั้นไม่เพียงแต่จะกระทบกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั้ง 3 ค่ายเท่านั้น แต่คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตรถยนต์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ แม้จะเป็นที่คาดการณ์ว่า ในที่สุดแล้วทางการสหรัฐฯคงจะอนุมัติมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ดังกล่าว แต่หากปัญหาและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเลวร้ายกว่าที่คาด หรือมาตรการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวออกมาช้าเกินไปหรือน้อยเกินไปแล้ว ผลกระทบในวงกว้างก็ย่อมจะเกิดขึ้นอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบในแง่มุมต่างๆ รวมทั้งผลที่จะเชื่อมโยงมาสู่ประเทศไทย โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
ผลจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เป็นที่หวาดวิตกกันว่า หากเกิดปรากฏการณ์ยักษ์ล้มในอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐฯจริง อาจจะเป็นชนวนนำมาซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของสหรัฐฯได้ โดยอาจจะส่งผลต่อคนงานที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจยานยนต์ทั้งหมด เป็นจำนวนรวมกันถึงประมาณ 3.5 ล้านคน ซึ่งนับเป็นจำนวนแรงงานในระบบถึงประมาณร้อยละ 2.4 ของจำนวนแรงงานปัจจุบันในสหรัฐฯ ส่งผลให้อัตราการว่างงานอาจเพิ่มสูงขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 8.9 จากปัจจุบันที่มีอยู่ที่ร้อยละ 6.7 ซึ่งจำนวนการว่างงานดังกล่าวจะยิ่งซ้ำเติมระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่กำลังย่ำแย่อยู่ในขณะนี้ให้ฟื้นตัวลำบากยิ่งขึ้น และนอกจากนี้ปัญหาลูกโซ่ที่จะตามมานั้น รัฐบาลอาจต้องประสบกับปัญหาด้านงบประมาณครั้งใหญ่เมื่อต้องเข้ามารับผิดชอบสวัสดิการบำนาญหลังเกษียณ และการประกันสุขภาพจำนวนมาก อีกทั้งรายได้จากภาษีที่อาจสูญไปกว่าแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ถ้าขนาดของธุรกิจรถยนต์หายไปครึ่งหนึ่งจากปัจจุบัน นอกจากนี้ ตลาดการเงินของสหรัฐฯยังอาจจะต้องพบกับวิกฤติอีกครั้ง เนื่องจากบิ๊กทรีและกิจการด้านสินเชื่อของกลุ่มเป็นผู้ที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 10 ของตลาดพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งคาดว่าจะมีผลทำให้วิกฤติการเงินสหรัฐฯทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยย่อมจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมหากค่ายบิ๊กทรีต้องประสบปัญหาถึงขั้นล้มละลาย โดยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้น ในส่วนของค่ายบิ๊กทรีที่มาลงทุนในไทยคาดว่าอาจจะได้รับผลกระทบต่อโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันในตลาด นอกจากนี้การที่บริษัทแม่ในสหรัฐฯมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงินและสถานะการแข่งขัน อาจทำให้ต้องมีปรับโครงสร้างกำลังการผลิตของบริษัทลูกในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงประเทศไทย รวมถึงอาจมีผลทำให้แผนการผลิตและลงทุนเพิ่มเติมอาจจะต้องหยุดชะงักลง ซึ่งอาจส่งผลตามมาต่อการจ้างงานในระบบการผลิต และท้ายที่สุดจะกระทบกับเป้าหมายของแผนแม่บทอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย ที่วางไว้ว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ในประเทศให้ได้ถึง 2 ล้านคันภายในปี 2554 อย่างไรก็ตามไม่เพียงแต่ในส่วนของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบ อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์นั้น ก็คาดว่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงเช่นเดียวกัน ซึ่งหากกิจการพึ่งพิงกิจกรรมการค้ากับค่ายบิ๊กทรีมาก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะยิ่งเผชิญกับความเสี่ยงที่มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐฯก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯในการช่วยเหลือค่ายบิ๊กทรีซึ่งอาจจะพลิกกลับได้ ทั้งนี้ คาดว่าอาจจะมีการพิจารณาให้ความช่วยเหลืออีกในการประชุมรัฐสภาครั้งหน้าในวันที่ 6 มกราคม หรือภายหลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนายบารัค โอบามา ซึ่งมีท่าทีค่อนข้างชัดเจนที่จะช่วยเหลือกลุ่มบิ๊กทรี และโดยนโยบายของพรรคเดโมแครตเองก็เน้นการแก้ปัญหาการจ้างงานในประเทศเป็นหลัก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ต้องจับตาดูกันต่อไป ส่วนการช่วยเหลือในช่วงสุญญากาศก่อนการเข้ารับตำแหน่งของนายโอบามานั้น ขึ้นอยู่กับว่าทางรัฐบาลจะตัดสินใจใช้หนทางช่วยเหลืออื่นๆอย่างไร ซึ่งหากรัฐบาลสหรัฐฯยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือได้ทันท่วงที ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย แต่หากรัฐบาลสหรัฐฯตัดสินใจปล่อยให้กลุ่มบิ๊กทรีล้มละลาย คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯมากพอสมควร ซึ่งจะทำให้วิกฤติทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯในครั้งนี้ยืดเยื้อยาวนานขึ้น และส่งผลต่อเศรษฐกิจในอีกหลายๆประเทศทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ทำให้การฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจคงจะยากลำบากยิ่งขึ้นกว่าในปัจจุบัน นอกจากนี้แผนการลงทุนจากต่างประเทศต่างๆโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์อาจจะต้องหยุดชะงักลง จนกว่าเศรษฐกิจจะมีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีขึ้น
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น