Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 มกราคม 2552

อุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทยปี 52 ... เผชิญความท้าทายท่ามกลางวิกฤติตลาดรถยนต์ที่หดตัว (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2395)

คะแนนเฉลี่ย

ตลาดรถยนต์ไทยในขณะนี้กำลังปั่นป่วนอย่างหนัก ตลาดทั้งในประเทศและตลาดส่งออกต่างชะลอลงอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะดำเนินไปในทิศทางนี้จนถึงปี 2552 ซึ่งสาเหตุดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนไทยจะต้องเผชิญในปี 2552 รวมทั้งเสนอแนวทางการปรับกลยุทธ์โดยมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

ในปี 2552 หลายฝ่ายได้มีการคาดการณ์ว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกให้ประสบปัญหาหนักยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการขาดสภาพคล่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐฯซึ่งกำลังรอความหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล และขณะนี้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในภูมิภาคต่างๆก็ได้เริ่มประกาศลดคนงาน ลดกำลังการผลิต และชะลอการลงทุนต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางการส่งออกอุตสาหกรรมชิ้นส่วนโดยเฉพาะ OEM ที่เข้าไปอยู่ในเครือข่ายการผลิตรถยนต์ของบริษัทรถยนต์เหล่านี้ ส่วนตลาดรถยนต์ในประเทศก็กำลังเผชิญกับภาวะยอดขายหดตัวลง

แม้ค่ายรถจะออกกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่องแต่ด้วยปัญหาความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง รวมถึงความเข้มงวดของการให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ตลาดรถยนต์คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งผลดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยประเภท OEM อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดรถยนต์ที่ชะลอตัวจะส่งผลต่อกระทบต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนของไทยโดยภาพรวม ทว่าจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเช่นนี้ ผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายสูงขึ้น จึงมีแนวโน้มไม่นิยมซื้อรถใหม่แต่จะใช้รถคันเดิมไปก่อน หรือซื้อรถยนต์มือสอง ซึ่งมีราคาต่ำกว่าแม้จะมีปัญหาจุกจิกจากการซ่อมบำรุงที่มากกว่า ดังนั้นความต้องการอะไหล่รถยนต์จึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลดีต่อชิ้นส่วนรถยนต์ประเภท REM

ทว่าในช่วงที่ตลาดรถยนต์ในหลายๆภูมิภาคต้องประสบปัญหายอดขายชะลอตัว ส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในหลายประเทศมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่มาก จึงมีโอกาสที่จะเกิดการใช้กลยุทธ์การตัดราคา เพื่อเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศต่างๆไม่เว้นแม้แต่ในไทย ซึ่งคู่แข่งที่น่าจะต้องระวังคือ ชิ้นส่วนจากจีนที่มีราคาถูก ซึ่งอาจส่งผลให้การขยายตลาดชิ้นส่วนของไทยทำได้ยากลำบากมากขึ้น และแม้สินค้าไทยจะได้รับความเชื่อถือว่ามีคุณภาพดีแล้ว แต่ในภาวะปัจจุบันที่ตลาดรถยนต์ชะลอตัวและมีการแข่งขันกันสูง ซึ่งต่างก็ต้องลดต้นทุนการผลิต แนวทางปรับกลยุทธ์หนึ่งที่จะทำได้คือ การปรับปรุงโครงสร้างและเทคโนโลยีการผลิตในโรงงาน

ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนและพัฒนาคุณภาพสินค้า โดยการลดต้นทุนวัตถุดิบต่างๆที่ไม่จำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนที่มีคุณภาพสูงโดยเฉพาะ และรักษาระดับคุณภาพและความเชื่อถือของตัวสินค้าที่ผลิต เพื่อให้ชิ้นส่วนที่ผลิตได้นั้นเป็นสินค้าคุณภาพดีราคาเหมาะสม รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียฐานลูกค้าให้กับคู่แข่งอย่างจีน เป็นต้น อย่างไรก็ตามเพื่อหวังผลในระยะยาวจำเป็นที่จะต้องมองการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มคุณภาพของสินค้าในระยะยาวด้วย ในส่วนของผู้ประกอบการชิ้นส่วนในรูปแบบ OEM นั้นนอกจากการพยายามลดต้นทุนแล้ว อีกแนวทางหนึ่งที่ทำได้คือ เพิ่มการขยายตลาดไปสู่ตลาดชิ้นส่วน REM เนื่องจากในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ตลาดอะไหล่รถยนต์เป็นตลาดที่ยังขยายตัวได้ดี ทั้งนี้เพื่อเข้าไปทดแทนการนำเข้าอะไหล่จากต่างประเทศ และเพิ่มโอกาสแก่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนไทยในการขยายตลาดการส่งออกอะไหล่รถยนต์ไปต่างประเทศ

ส่วนการขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพอยู่อาจเป็นอีกทางหนึ่งที่เป็นไปได้ เช่น จีน ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย โคลัมเบีย อิหร่าน ลาว พม่า ศรีลังกา นอร์เวย์ สวีเดน ตรินิแดดและโตเบโก เป็นต้น ซึ่งไทยยังมีการส่งออกขยายตัวได้ดี และแม้ในบางประเทศที่เป็นฐานลูกค้าเดิม เช่น กลุ่มประเทศอาเซียน อินเดีย ไต้หวัน อัฟกานิสถาน และอาร์เจนติน่า เป็นต้น ในเดือนพฤศจิกายนจะมีการส่งออกที่หดตัวลงก็ตาม แต่ในเดือนก่อนหน้าการส่งออกยังมีการขยายตัวดี ประกอบกับบางประเทศได้มีการเปิดเสรีการค้ากับไทยในหมวดยานยนต์ เช่น อาเซียน และอินเดีย ทำให้คาดว่าน่าจะยังเป็นตลาดที่ไทยจะยังคงใช้เป็นลู่ทางในการขยายตลาดได้อยู่

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม