Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 มกราคม 2552

การค้า

เขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐอเมริกา: ท่าทีของไทยในยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2132)

คะแนนเฉลี่ย

หลังพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 44 ของนายบารัค โอบามาในวันอังคารที่ 20 มกราคม 2552 รัฐบาลชุดใหม่มีแผนจะเร่งผลักดันให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าราว 8.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้อย่างรวดเร็ว ซึ่งรัฐสภาของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าจะทำให้การขาดดุลงบประมาณในปี 2552 สูงถึง 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ นับเป็นมูลค่าสูงสุดตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา การทุ่มเทเงินงบประมาณอย่างมหาศาลอาจจะทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาต้องใช้มาตรการปกป้องทางการค้าในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่า เงินงบประมาณที่ถูกใช้ออกไปจะไหลเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาอย่างแท้จริง USA Today ประเมินว่า หากรัฐบาลสหรัฐฯ อัดฉีดเงินงบประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ จะทำให้ GDP เพิ่มขึ้นราว 1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และหากรัฐบาลเพิ่มภาษีกับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในสหรัฐอเมริกาสูงถึง 2.8 ล้านล้านสหรัฐฯ มาตรการปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่มิใช่ภาษีเช่น การรณรงค์ให้ชาวอเมริกันหันมาซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น การให้เงินอุดหนุนบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ 3 แห่งของสหรัฐฯ และมาตรการอุดหนุนสินค้าเกษตรชุดใหม่ แต่สหรัฐอเมริกายังไม่ได้นำมาตรการทางภาษีมาใช้ปกป้องทางการค้าเช่นเดียวกับอินเดีย

นโยบายการค้าของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัค โอบามาอาจจะส่งผลต่อการเปิดเสรีทางการค้าของประเทศไทยทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพราะประธานาธิบดีโอบามาประกาศจะใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศและต่อต้านความตกลงการค้าเสรีที่มีผลกระทบต่อการจ้างงานชาวอเมริกัน ซึ่งแตกต่างจากนโยบายการค้าของประธานาธิบดีจอร์จ บุชที่มุ่งเปิดเสรีการค้าและการลงทุนเป็นหลัก ขณะเดียวกันประธานาธิบดีโอบามาอาจจะเปิดเกมรุกในตลาดต่างประเทศมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการส่งออกที่มีแนวโน้มจะชะลอตัวลงและลดปัญหาการขาดดุลการค้าอย่างหนักของสหรัฐอเมริกา แต่ปัญหาการขาดดุลการค้าเรื้อรังของสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะกับประเทศจีนที่ลดลงมากในปี 2552 อาจจะช่วยลดแรงกดดันของสหรัฐอเมริกาต่อประเทศคู่ค้าให้ต้องเปิดรับสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ มากขึ้น นอกจากนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนที่ยังไปได้ดีในปี 2552 การแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนและอินเดียตลอดจนการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี 2558 อาจจะทำให้โอบามาให้ความสำคัญกับไทยและอาเซียนมากขึ้นเพราะไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้และมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคนี้มาโดยตลอด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า รัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาคก่อนเป็นลำดับแรกโดยเฉพาะกรอบ ASEAN และ ASEAN+3 เพื่อรักษาโอกาสทางการค้าควบคู่กับการสร้างเสถียรภาพทางการเงินในภูมิภาค ควบคู่กับการสนับสนุนให้การเจรจาการค้าโลกรอบโดฮาประสบความสำเร็จโดยเร็วเพราะผู้ประกอบการไทยจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีในกรอบ WTO มากกว่า TUSFTA เนื่องจากการเปิดเสรีทางการค้าในกรอบ WTO จะช่วยลดแรงกดดันต่อการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าและการตอบโต้ทางการค้าที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นในปีนี้ ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยควรกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบทวิภาคีกับสหรัฐอเมริกาภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐอเมริกา(Thailand-US TIFA) และเร่งยกระดับมาตรฐานและแรงงานในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า