Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 กุมภาพันธ์ 2552

อุตสาหกรรม

เศรษฐกิจซบเซา...คนกรุงฯปรับพฤติกรรมการบริโภคสินค้าอาหาร (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2422)

คะแนนเฉลี่ย

ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในปี 2552 ทำให้ผู้บริโภคเกิดความวิตกกังวลถึงความมั่นคงของอาชีพการงาน และความไม่แน่นอนของรายได้ในอนาคต ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเน้นการจับจ่ายใช้สอยอย่างประหยัด แม้กระทั่งสินค้าอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าที่จำเป็นต้องบริโภค และเป็นสินค้าที่คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุดในบรรดาสินค้าและบริการทั้งหมด แต่ปัจจุบันก็ยังได้รับผลกระทบจากการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภค บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ ;พฤติกรรมการบริโภคสินค้าอาหารของคนกรุงเทพฯ” ระหว่างวันที่ 9-23 มกราคม 2552 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,025 คน โดยกระจายกลุ่มตัวอย่างตามอาชีพ เนื่องจากในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาอาชีพเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค โดยแต่ละอาชีพจะมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพต่อไป และความแน่นอนของรายได้ที่แตกต่างกัน ซึ่งมีผลต่อความวิตกกังวลถึงความมั่นคงของอาชีพและความไม่แน่นอนของรายได้ในอนาคต

นอกจากนี้ ในการกระจายกลุ่มตัวอย่างนั้นยังเน้นการแจกแจงประเภทของพนักงานบริษัทหรือลูกจ้างด้วย เนื่องจากกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากในช่วงภาวะเศรษฐกิจซบเซา โดยแยกประเภทของลูกจ้างด้วยลักษณะการจ่ายเงิน ดังนี้ ลูกจ้างรายเดือน ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างรายชั่วโมง ลูกจ้างตามผลงาน และลูกจ้างงานเหมา ในการสำรวจนั้นยังเน้นการกระจายอุตสาหกรรมในเขตต่างๆของกรุงเทพฯ อุตสาหกรรมที่ดำเนินการสำรวจได้แก่ โรงงานผลิตอาหารกึ่งสำเร็จรูป โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป โรงงานผลิตรองเท้า โรงงานทอผ้า โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ โรงงานเฟอร์นิเจอร์ ธุรกิจรับเย็บเสื้อโหล ลูกจ้างที่ทำงานในธุรกิจและบริการต่างๆ เช่น สถาบันการเงิน โรงแรม ร้านอาหาร อู่ซ่อมรถยนต์ เป็นต้น

จากการสำรวจพบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.0 คาดว่ารายได้มีแนวโน้มลดลง เมื่อแยกพิจารณากลุ่มตัวอย่างตามอาชีพแล้ว ปรากฎว่าอาชีพข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ เนื่องจากมีความวิตกกังวลในเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงาน และรายได้ในอนาคตน้อยกว่า ส่วนอาชีพที่เผชิญผลกระทบอย่างมาก คือ พนักงานบริษัทหรือลูกจ้าง โดยเฉพาะลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างงานเหมา และลูกจ้างตามผลงาน (ในกลุ่มอาชีพลูกจ้างด้วยกันลูกจ้างรายเดือนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด) รองลงมาคือ อาชีพรับจ้าง และค้าขาย/กิจการส่วนตัว

จากการสำรวจยังพบว่า คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 66.4 เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจับจ่ายสินค้าอาหาร ทั้งนี้ เป็นการปรับพฤติกรรมการจับจ่ายให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในปี 2552 การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคสินค้าอาหารของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างแยกออกได้อย่างชัดเจนระหว่างสินค้าอาหารประเภทอาหารสด และอาหารกึ่งสำเร็จรูป/อาหารสำเร็จรูป กล่าวคือ สินค้าประเภทอาหารสดยังเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภค ในการซื้อสินค้าอาหารประเภทอาหารสด คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง เลือกปรับพฤติกรรมในการเปลี่ยนสถานที่ซื้อเป็นส่วนใหญ่ โดยการเลือกซื้อสินค้าครั้งละไม่มาก คือ ซื้อเท่าที่จำเป็น เลือกซื้อจากตลาดนัดหรือร้านชำใกล้บ้าน/ใกล้ที่ทำงาน และตลาดสด ส่วนการซื้ออาหารกึ่งสำเร็จรูป/อาหารสำเร็จรูปคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะเลือกปรับพฤติกรรมโดยการลดปริมาณการบริโภค เปลี่ยนสถานที่ซื้อ เปลี่ยนยี่ห้อ เลิก/งดการบริโภค หรือหันไปบริโภคสินค้าอื่นทดแทน

สำหรับประเภทอาหารกึ่งสำเร็จรูป/อาหารสำเร็จรูปที่คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างระบุว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคนั้นแยกพิจารณาได้เป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มสินค้าอาหารที่ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างรุนแรงคือ เลิก/งดการบริโภค ได้แก่ เครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนกลุ่มที่สองเป็นสินค้าอาหารที่ผู้บริโภคมีการปรับพฤติกรรมน้อยที่สุด เนื่องจากผู้บริโภคยังเห็นว่าเป็นสินค้าที่จำเป็นต้องบริโภค หรือเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ ดังนั้นผู้บริโภคจึงเลือกที่จะเปลี่ยนสถานที่ซื้อ และเปลี่ยนยี่ห้อ เพื่อหาซื้อสินค้าอาหารเหล่านี้ในราคาที่ถูกที่สุด สินค้าอาหารในกลุ่มนี้ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมพร้อมดื่มและผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ และน้ำผักผลไม้ สำหรับกลุ่มสินค้าอาหารที่ผู้บริโภคมีการปรับพฤติกรรมไม่รุนแรง โดยเรียงลำดับตาม การพิจารณาปัจจัยต่างๆร่วมกัน ซึ่งสินค้าอาหารกลุ่มนี้สัดส่วนของผู้บริโภคที่เลือก เลิก/งดการบริโภคน้อยกว่าสินค้าอาหารกลุ่มแรก ในขณะที่สัดส่วนการเลือกเปลี่ยนสถานที่ซื้อหรือเปลี่ยนยี่ห้อมากกว่ากลุ่มที่สอง ซึ่งสินค้าอาหารที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ขนมขบเคี้ยว อาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ อาหารสำเร็จรูป/บรรจุกระป๋อง และผลิตภัณฑ์ เบเกอรี่

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา คนวิตกกังวลเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงานและรายได้ในอนาคต ผู้บริโภคเน้นประหยัด เพราะเผชิญกับกำลังซื้อที่ถดถอยจากภาวะเศรษฐกิจที่รุมเร้า ในขณะที่ภาวะการแข่งขันในตลาดของสินค้าอาหารโดยเฉพาะอาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารสำเร็จรูปจะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นในปี 2552 นี้ โดยผู้บริโภคพิจารณาตรายี่ห้อน้อยลง และมีความอ่อนไหวเรื่องราคามากขึ้น เมื่อผู้ประกอบการขึ้นราคาสินค้าจะส่งผลกระทบให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคสินค้าอื่นทดแทน หรือลดปริมาณการบริโภคทันที เรื่องเหล่านี้นับว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของผู้ประกอบการในปัจจุบันที่ต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อประคองตัวให้อยู่รอดได้ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม