Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 กุมภาพันธ์ 2552

อุตสาหกรรม

อุตฯ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยปี 52: ส่งออกลด เลิกจ้างเกือบ 1 แสนคน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2424)

คะแนนเฉลี่ย

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าอัตราการเติบโตของการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มที่จะติดลบค่อนข้างมาก โดยมูลค่าตลาดอาจลดลงประมาณร้อยละ 15-20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากการลดลงของอุปสงค์ต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าไอทีซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับการที่ฐานการส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยทั้งปีจะหดตัวประมาณร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 15 คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 26,437-29,547ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์ (ส่วนใหญ่เป็นฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ) คาดว่าจะไม่เติบโตเลยถึงหดตัวลงร้อยละ 5 ส่วนกลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะลดลงอยู่ในช่วงร้อยละ 10-20 โดยผลพวงของการลดลงของการส่งออกจะมีผลต่อไปถึงการจ้างงานและการลงทุนของอุตสาหกรรมในอนาคต การปรับลดของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศทำให้โรงงานซึ่งส่วนใหญ่รับจ้างผลิต หลายแห่งต้องปิดตัวลงและแรงงานถูกเลิกจ้าง ขณะที่การลงทุนในระยะสั้นถึงระยะกลางเพื่อขยายการผลิตมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวจากสภาพเศรษฐกิจและการมีกำลังการผลิตส่วนเกิน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าตลาดโดยรวมจะชะลอตัวสาเหตุจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก หากผู้ประกอบการก็ยังมีโอกาสในตลาดส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินในสหรัฐฯ ไม่รุนแรงนัก และประเทศที่เศรษฐกิจยังสามารถเติบโตได้ดี ซึ่งผู้ประกอบการควรมีการกระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ อาทิ จีน อินเดีย เวียดนาม ประเทศในแถบตะวันออกกลาง และประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออกบางประเทศ ที่เป็นฐานการผลิตและการบริโภคสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและไอทียังขยายตัวต่อเนื่อง ในด้านของผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิตไม่ควรละเลยการลงทุนเพื่อการปรับปรุงนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและโอกาสในการขาย

ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับคำสั่งซื้อที่อาจปรับลดลงค่อนข้างรุนแรงโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ซึ่งเมื่อประกอบกับภาวะสินเชื่อตึงตัว อาจทำให้ผู้ประกอบการขาดเงินทุนหมุนเวียนและประสบกับปัญหาสภาพคล่องได้ ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรต้องหมั่นตรวจสอบคือเรื่องกระแสเงินสด และสินค้าคงคลังซึ่งหากมีอยู่เป็นจำนวนมากเกินไปก็จะเป็นภาระต้นทุนของธุรกิจ ทั้งนี้ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ธุรกิจควรปรับการผลิตให้มีความยืดหยุ่นและลดต้นทุนในด้านต่างๆ และควรมีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ทั้งในด้านคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกีดกันการค้าจากมาตรการที่มิใช่ภาษีที่ประเทศต่างๆ อาจนำออกมาใช้มากขึ้นในอนาคต

สำหรับบริษัทที่มีสภาพคล่องและมีเงินทุนในการขยายธุรกิจหรือมีการปรับโครงสร้างธุรกิจโดยการควบรวม ภาวะที่เศรษฐกิจซบเซาประกอบกับการที่เงินเยนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสในการลงทุนในระยะยาวเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกิจการ โดยการย้ายหน่วยผลิตมายังประเทศที่มีแรงงานและต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ เนื่องจากนโยบายในการลงทุนของบริษัทข้ามชาติขึ้นอยู่กับบริษัทแม่ ประเด็นสำคัญในเชิงนโยบายที่จะมีผลต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย คือ การพยายามดึงดูดและรักษาการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ให้เข้ามาตั้งโรงงานในไทย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม