Display mode (Doesn't show in master page preview)

6 กุมภาพันธ์ 2552

เกษตรกรรม

แนวโน้มผลิตภัณฑ์กุ้งปี ’52 : ตลาดส่งออกซบเซา (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2425)

คะแนนเฉลี่ย

ตลาดผลิตภัณฑ์กุ้งในปี 2552 พลิกกลับจากที่เคยคาดการณ์ว่าการส่งออกมีแนวโน้มสดใสจากหลากปัจจัยเอื้อในตลาดส่งออกหลัก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯที่ปรับลดอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ทำให้สถานะการแข่งขันของผลิตภัณฑ์กุ้งไทยในตลาดสหรัฐฯมีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนในตลาดสหภาพยุโรปนั้นไทยได้รับคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพี ทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไปยังตลาดสหภาพยุโรปมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น โดยสามารถดึงส่วนแบ่งตลาดกลับมาจากคู่แข่งสำคัญในตลาดนี้ และกลับขึ้นไปเป็นอันดับหนึ่งในการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดเยอรมนี อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าแนวโน้มการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในปี 2552 มีแนวโน้มซบเซาลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในปี 2552 ลดลงเหลือ 340,000-350,000 ตัน มูลค่า 2,150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2551 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 5.0 และ 10.0 ตามลำดับ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกุ้งต้องปรับตัวเตรียมรับมือกับสถานการณ์ในปี 2552 ซึ่งผู้เลี้ยงกุ้งของไทยร่วมมือกันปรับลดการผลิตกุ้งเหลือ 392,000 ตัน หรือลดลงประมาณร้อยละ 20.0 เมื่อเทียบกับปี 2551 นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มผลิตภัณฑ์ คือ กุ้งชีวภาพ กุ้งฝอยทะเล และผลิตภัณฑ์แปรรูปกุ้งเพื่อป้อนตลาดค้าปลีกและตลาดอาหารฟาสตฟู้ดส์ ซึ่งผลิตภัณฑ์กุ้งเหล่านี้ยังมีลู่ทางในการขยายการส่งออกได้อีกมาก อย่างไรก็ตาม การเพิ่มการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งทั้งสองประเภทนี้ไม่สามารถทดแทนการลดลงของการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งได้มากนัก

ประเด็นปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2552 คือ การลดปริมาณการผลิตกุ้งถึงร้อยละ 20.0 นั้นส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมกุ้งทั้งระบบ ตั้งแต่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง โรงเพาะฟัก โรงงานผลิตอาหารกุ้ง ห้องเย็น โรงงานแปรรูป และผู้ส่งออกกุ้ง โดยคาดว่าปริมาณผลผลิตกุ้งไม่น่าจะลดลงได้มากถึงร้อยละ 20.0 เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่ปรับตัวไม่ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และต้องพึ่งพิงรายได้จากการเลี้ยงกุ้งเป็นหลัก ส่งผลให้อาจจะเกิดปัญหาราคากุ้งตกต่ำอย่างมากในปี 2552 เนื่องจากการส่งออกชะลอตัวพร้อมกันทั้ง 3 ตลาดหลัก ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกถึงเกือบ 90.0 ของการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งทั้งหมด ในขณะที่การหันมาขยายตลาดในประเทศก็ทำได้ยากในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และกำลังซื้อของคนไทยก็ลดลงเช่นกัน กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์คงต้องเร่งเตรียมการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมกุ้ง ซึ่งแนวทางน่าจะเป็นการแทรกแซงตลาดเพื่อพยุงราคาเช่นเดียวกับพืชไร่อื่นๆ แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การแทรกแซงตลาดเพื่อเก็บสต็อกกุ้งนั้นต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง อันเป็นผลจากราคาสินค้าที่อยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับสินค้าธัญพืช และค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาอยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากต้องเก็บในห้องเย็นเท่านั้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม