Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 กุมภาพันธ์ 2552

การค้า

FTA อาเซียน-เกาหลีใต้: โอกาสของภาคส่งออกและการลงทุน (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2432)

คะแนนเฉลี่ย

ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกร้อยละ 0.5 ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 นี้ เหลือร้อยละ 2 เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษ ทั้งนี้ ผลพวงจากพิษเศรษฐกิจโลกส่งผลให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้เข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษ อีกทั้งยังส่งผลให้ภาคส่งออกของเกาหลีใต้ทรุดลงกว่าร้อยละ 32 ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการหดตัวต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2541 เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศลดลงโดยเฉพาะจากประเทศจีน ญี่ปุ่น สหรัฐ ฯ และ สหภาพยุโรป ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของเกาหลีใต้ โดยในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงเกือบร้อยละ 20 (yoy) แสดงให้เห็นว่าภาคการผลิตของเกาหลีใต้ได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนักตามการสั่งซื้อที่อ่อนแรงลง นอกจากนี้ ภาคการบริโภคภายในประเทศยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจด้วย

โดยดัชนีค้าปลีกในเดือนธันวาคม 2551 หดตัวเกือบร้อยละ 5 (yoy) ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ดังกล่าวยังส่งผลไปยังภาคแรงงานทำให้ อัตราการว่างงานขยายตัวเป็นร้อยละ 3.3 เดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา จากร้อยละ 3.1 ในเดือนก่อนหน้าทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจถดถอยและภาคส่งออกที่ซบเซาของเกาหลีใต้ที่ยังคงดำเนินไปต่อเนื่องในปี 2552 ตามภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกที่ยืดเยื้อและยังมีความไม่แน่นอนทำให้คาดว่าจะส่งผลกระทบเชื่อมต่อมายังภาคการส่งออกของไทยไปประเทศเกาหลีใต้และภาคการลงทุนของเกาหลีใต้ในไทยให้ชะลอตัวต่อเนื่องด้วย

ในด้านการค้าระหว่างประเทศนั้น สัญญาณชะลอตัวของภาคส่งออกของเกาหลีใต้ในเดือนมกราคม 2552 โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ คอมพิวเตอร์ และ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ที่หดตัวกว่าร้อยละ 50 (yoy) ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ของเกาหลีใต้ลดลงด้วยเช่นกันซึ่งทำให้ภาคส่งออกสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางของไทยไปยังเกาหลีใต้ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกันได้รับผลกระทบตามไปด้วยโดยเฉพาะสินค้าส่งออกที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยไปเกาหลีใต้ที่เป็นอุตสาหกรรมสำคัญของเกาหลีใต้ต้องชะลอตัวตามวิกฤตเศรษฐกิจโลกในรอบนี้

ทั้งนี้ คาดว่า การส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้ในปี 2552 น่าจะชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 เนื่องจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกที่กดดันให้การส่งออกของเกาหลีใต้ชะลอตัวลงตามโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้มีแนวโน้มชะลอตัวตามไปด้วยอย่างน้อยจนถึงในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

ส่วนด้านการลงทุนในปี 2551 มีจำนวนโครงการการลงทุนของเกาหลีใต้ที่ขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยในปี 2551 ทั้งสิ้น 49 โครงการ ลดลงร้อยละ 5.7 (yoy) และมูลค่าการลงทุน 4.3 พันล้านบาท ลดลงกว่าร้อยละ 62 (yoy) ทั้งนี้ ประเภทอุตสาหกรรมของเกาหลีใต้ที่เข้าลงทุนลดลง ได้แก่ แร่ธาตุและเซรามิกส์ เหล็ก/เครื่องจักรกล อุตสาหกรรมเพื่อการบริการ และ ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสาเหตุสำคัญของการชะลอตัวการลงทุนมาจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกและการขาดเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทยที่ส่งผลต่อบรรยากาศความเชื่อมั่นของนักลงทุนเกาหลีใต้

สำหรับทิศทางการลงทุนของเกาหลีใต้ในไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า โครงการลงทุนของเกาหลีใต้ในไทยประเภทอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 น่าจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2551 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาของเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการลงทุนจากนักลงทุนเกาหลีใต้อาจปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไปหากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2552 กอปรกับภาวะการเมืองไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นในปีนี้และมาตรการกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศของรัฐบาลไทยก็น่าจะดึงดูดนักลงทุนเกาหลีใต้ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

สำหรับโอกาสของภาคส่งออกและการลงทุนของไทยภายใต้กรอบ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) ด้านการค้าสินค้าและบริการ ซึ่งมีกำหนดลงนามความตกลง FTA ในช่วงเดือนเมษายน 2552 และคาดว่าความตกลงฯ อาจเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทำให้สินค้าส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาทัดเทียมกับสินค้าส่งออกของประเทศอาเซียนอื่น ๆ ที่ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีภายใต้กรอบ FTA ไปก่อนหน้าแล้ว อีกทั้งยังถือเป็นโอกาสทางการค้าที่สำคัญของผู้ประกอบการส่งออกของไทยที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้กฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่มีความยืดหยุ่นทางการค้ามากขึ้น รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านภาษีตามข้อตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) สินค้าส่งออกไทยในเกาหลีใต้ที่น่าจะมีโอกาสขยายตัว เช่น กากน้ำตาล เส้นด้าย กุ้งแช่เย็น/แช่แข็ง แป้งมันสำปะหลัง ปลาหมึกและอัญมณี เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยยังได้รับประโยชน์ด้านการลงทุนจากประเทศเกาหลีใต้ที่อาจใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพด้านการลงทุนในภูมิภาค รวมถึงการขยายธุรกิจบริการของไทยภายใต้ความตกลงเปิดเสรีภาคบริการที่เกาหลีใต้ซึ่งเปิดให้นักลงทุนอาเซียนรวมทั้งไทยเข้าไปลงทุนได้มากขึ้น เช่น ธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร ธุรกิจบันเทิง และบริการทำความสะอาด

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศอย่างเร่งด่วนโดยการสนับสนุนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับและปรับปรุงโครงสร้างการขนส่งภายในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระดับภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยควรศึกษารายละเอียดด้านสิทธิประโยชน์ทางการค้าเสรีภายใต้กรอบข้อตกลงอาเซียน-เกาหลีใต้เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าและรับมือกับการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียนที่มีทวีความเข้มข้นมากขึ้น

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 25-28 กุมภาพันธ์ 2552 ทางองค์กรส่งเสริมการค้าและการลงทุนของประเทศเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย (KOTRA) ร่วมกับสำนักงานการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ของไทยจะจัดงานแสดงสินค้าเกาหลีใต้ระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยโดยมีบริษัทกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีของเกาหลีใต้กว่า 60 บริษัทมาร่วมในงานครั้งนี้โดยมีกลุ่มสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องจักรอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สุขภาพและความงาม และ บันเทิง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าการจัดงานแสดงสินค้าเกาหลีใต้ระดับนานาชาติในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสการขยายธุรกิจของผู้ประกอบการไทยที่จะใช้เวทีการจัดงานแสดงสินค้าในครั้งนี้เพื่อเจรจาการค้าและส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดในประเทศเกาหลีใต้ อีกทั้งยังอาจเป็นช่องทางในการดึงดูดผู้ประกอบการเกาหลีใต้ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยในสาขาที่มีความหลากหลายมากขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า