ปีที่ผ่านมา วิกฤติการเงินในสหรัฐฯได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย ทำให้ตัวเลขทั้งในส่วนของยอดผลิต ยอดขายรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศ คาดว่าจะชะลอในปี 2552 ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่ครั้งแรกที่อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยต้องเผชิญกับภาวะหดตัวอย่างมาก แต่หลังจากที่อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยเคยหดตัวอย่างรุนแรงในปี 2541 ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งแล้ว ปี 2552 อาจนับได้ว่าเป็นการหดตัวอย่างรุนแรงครั้งแรกหลังจากวิกฤติดังกล่าวทีเดียว ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในปี 2552 โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ายอดส่งออกรถยนต์ปี 2552 จะอยู่ระหว่าง 545,000 ถึง 595,000 คัน หรือหดตัวร้อยละ 23 ถึง 30 ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า และความสามารถในการขยายตลาดตะวันออกกลาง รวมถึงประสิทธิผลของการใช้สิทธิจีเอสพีอียู อย่างไรก็ตามคาดว่ายอดส่งออกจะหดตัวลงค่อนข้างรุนแรงในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกเนื่องจากเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในปีที่ผ่านมา ส่วนสัญญาณการฟื้นตัวอาจเริ่มเห็นในช่วงไตรมาสสุดท้ายถ้าสภาพเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ประกอบกับฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในปีที่ผ่านมา ส่วนตลาดในประเทศอาจต้องเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้าน ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศปีนี้จะอยู่ระหว่าง 486,000 ถึง 517,000 คัน หรือหดตัวร้อยละ 16 ถึง 21 อย่างไรก็ดี การที่ธนาคารพาณิชย์เริ่มส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง และการลดภาษีเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึงภาวะราคาน้ำมันที่อยู่ในช่วงขาลงขณะนี้ ยังพอเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดรถยนต์ในประเทศได้บ้าง และหากรัฐบาลมีการออกมาตรการช่วยเหลือกระตุ้นยอดขายภาคยานยนต์ อาจจะทำให้อัตราการขยายตัวของยอดขายรถยนต์ในปีนี้ดีกว่ากรอบที่ประมาณการณ์ไว้
จากแนวโน้มยอดขายรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศที่ลดลงนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการวางแผนการผลิตรถยนต์ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 1,031,000 ถึง 1,112,000 คัน หรือหดตัวถึงประมาณร้อยละ 20 ถึง 26 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งปริมาณการผลิตที่ลดลงย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน OEM หรือ REM ดีลเลอร์ โชว์รูมต่างๆ บริษัทลีสซิ่ง และตลาดรถมือสอง รวมไปถึงผลกระทบต่อแรงงานในระบบ ในเบื้องต้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่คาดว่าจะลดลงในปี 2552 นี้คือ 49,000 ถึง 70,000 คน อย่างไรก็ตามอาจยังต้องติดตามดูว่าช่วงไตรมาสแรกนี้อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยได้รับผลกระทบเพียงใด ซึ่งตัวเลขคาดการณ์เบื้องต้นอาจมีการปรับดีขึ้นหรือลดลงได้อีก หากในช่วงไตรมาศแรกอุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าที่คาดไว้ หรือหากรัฐบาลมีการออกมาตรการให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น