Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 กุมภาพันธ์ 2552

การค้า

14th ASEAN SUMMIT: โอกาสและความท้าทายของไทยและอาเซียน (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2145)

คะแนนเฉลี่ย

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ถึง 1 มีนาคม 2552 จะส่งผลต่อทิศทางการค้าการลงทุนของไทยในอนาคตเพราะผู้นำจาก 10 ชาติอาเซียนจะร่วมลงนามทั้งความตกลงภายในกลุ่มอาเซียนและความตกลงระหว่างอาเซียนกับประเทศนอกกลุ่มเพื่อให้มีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ซึ่งจะช่วยกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นพร้อมกับขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้กว้างขึ้น เพราะอาเซียนและภาคีต้องเปิดเสรีการค้า การบริการ การลงทุนและแรงงานมีฝีมือ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจจากเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟตา ไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งจะเป็นความหวังหนึ่งของผู้ประกอบการไทยในการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนไปยังกลุ่มอาเซียน นอกจากนั้นภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเป็นปัจจัยคุกคามต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยอยู่ในขณะนี้ จะเป็นประเด็นสำคัญที่เหล่าผู้นำอาเซียนจะหยิบยกขึ้นมาหารือร่วมกันเพื่อนำเสนอมาตรการระยะสั้นและระยะยาวที่จะนำพาอาเซียนให้สามารถฟันฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไปได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า หลังจากความตกลงมีผลบังคับใช้ราวเดือนมิถุนายน 2552 ไทยจะได้รับประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

โดยในระยะสั้น ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยจะได้ประโยชน์จากจากการเปิดเสรีทางการค้าสินค้าและบริการและความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายบุคคลข้ามพรมแดนทั้งแรงงานวิชาชีพ 5 สาขาและนักท่องเที่ยวของกลุ่มอาเซียนจะเป็นปัจจัยบวกต่อความพยายามของไทยที่จะฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศ เพราะนอกจากอาเซียนจะร่วมกันสร้างมาตรการจูงใจให้นักท่องเที่ยวอาเซียนและต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคแล้ว การเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในภูมิภาคมากขึ้น

ส่วนระยะกลางจนถึงระยะยาว ความร่วมมือในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและเส้นทางคมนาคม รวมถึงการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคอาเซียนและส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคอาเซียนในระดับโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเสรีภาคบริการที่มีส่วนเสริมกับภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวอย่างการเปิดเสรีธุรกิจการบิน การบริการขนส่งและโลจิสติกส์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ประกอบกับการเปิดเสรีด้านการลงทุนที่เอื้อประโยชน์ให้นักลงทุนไทยสามารถย้ายฐานการผลิตเพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขัน ปัจจัยทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคอาเซียนโดยรวมในอนาคต อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ยังคงท้าทายบทบาทของไทยและชาติสมาชิกอื่นต่อการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีดังนี้

g ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและพัฒนาการทางกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ของสมาชิกซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อการเป็นประชาคมอาเซียน

g การขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับประเทศยักษ์ใหญ่ในเอเชียตะวันออกอย่างจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ย่อมจะนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการไทย

g ในเบื้องต้นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนได้ในระดับหนึ่ง แต่ในระยะยาวแล้ว อาเซียนควรมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเพื่อพัฒนาอาเซียนให้มีความแข็งแกร่งในภูมิภาค

g แม้ว่าอาเซียนจะต้องยกเลิกภาษีและมาตรการทางการค้าภายใต้กรอบอาฟตาระหว่างกันในปี 2553 แต่กระแสการกีดกันทางการค้าที่กำลังเป็นที่วิตกกังวลไปทั่วโลกในขณะนี้ อาจทำให้ประเทศอาเซียนนำมาตรการทางการค้าด้านเทคนิคมาใช้

g ความวิตกกังวลด้านพลังงานและอาหารจะเป็นปัจจัยท้าทายสำคัญที่สุดต่ออาเซียนในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า