Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 มีนาคม 2552

อุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมมือถือ ปี 52 ... ระบบ 3G เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตในอนาคต (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2448)

คะแนนเฉลี่ย

อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะยังมีแนวโน้มเติบโตท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปีนี้ แม้อาจชะลอตัวลงบ้างแต่ก็ถือว่ายังมีความแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่

§ ตลาดบริการ คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการบริโภคลง อย่างไรก็ตาม จากการที่ปัจจุบันโทรศัพท์เคลื่อนที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต ทำให้คาดว่าการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะชะลอตัวลงไม่มากนัก โดยในส่วนของตลาดบริการเสียงมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกไม่มาก โดยเฉพาะจำนวนเลขหมายใหม่ เนื่องจากปัจจุบันจำนวนเลขหมายเพิ่มสูงจนถึงประมาณ 61 ล้านเลขหมาย คิดเป็นอัตราส่วน Penetration Rate ประมาณร้อยละ 96.2 แม้จะมีผู้บริโภคหลายรายที่ใช้เลขหมายมากกว่า 1 หมายเลข แต่ในภาพรวมแล้วก็ถือว่าตลาดเข้าใกล้จุดอิ่มตัวมากขึ้น

ขณะที่การแข่งขันด้านราคายังคงอยู่ในระดับสูง โดยผู้ให้บริการยังคงใช้กลยุทธ์โทรในเครือข่ายราคาต่ำกว่าโทรนอกเครือข่าย แต่คาดว่าความเข้มข้นของกลยุทธ์ดังกล่าวจะไม่สูงดังเช่นที่ผ่านมา เนื่องจากมีข้อเสียตรงที่ผู้บริโภคจะระมัดระวังการโทรและตามมาด้วยปริมาณการโทรที่ลดลง โดยจะให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การเพิ่มปริมาณการโทรด้วยโปรโมชั่นหลายรูปแบบตามลักษณะของลูกค้ามากขึ้น ในส่วนของตลาดบริการเสริมถือว่ายังเป็นตลาดที่ผู้ให้บริการมีโอกาสขยายตลาดได้อีกมาก แม้ผู้บริโภคยังคงใช้บริการเสริมในด้าน SMS และ MMS เป็นหลัก แต่การใช้บริการเสริมอื่นๆ ก็เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบริการข่าว บริการเสียงเพลงรอสาย/เรียกเข้า และบริการอินเทอร์เน็ต

อย่างไรก็ตาม จากแนวคิดของภาครัฐในการจัดเก็บภาษีบริการ SMS แม้จะยังไม่มีความชัดเจนทั้งในส่วนอัตราภาษี รูปแบบการจัดเก็บ และประเภทของบริการที่เกี่ยวข้อง แต่ก็คาดว่าจะมีผลต่อแผนการตลาดของผู้ให้บริการและกระทบต่อยอดการใช้บริการเสริมในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ ปัจจุบันตลาดบริการเสริมก็มีข้อจำกัดอยู่ 2 ด้าน คือ ด้านเทคโนโลยีที่ยังไม่มีการเปิดใช้ระบบ 3G ทำให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลไม่สูง ส่งผลต่อการพัฒนา Content ใหม่ๆ ส่วนข้อจำกัดอีกด้านคือผู้ใช้บริการยังมีสัดส่วนไม่มาก เนื่องจากพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคยังคงเน้นการโทรเป็นหลัก ผู้ที่ใช้บริการเสริมส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษาและวัยทำงาน รวมทั้งมักจะอยู่ในเขตเมือง ซึ่งข้อจำกัดด้านผู้ใช้นี้ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของผู้ให้บริการในการขยายตลาดในอนาคต

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2552 จะมีมูลค่าตลาดประมาณ 166,000-169,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 0-2 ชะลอตัวลงจากปีก่อนที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 166,000 ล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 4 แม้ว่าอาจมีโอกาสที่จะไม่เติบโตจากปีก่อน แต่ก็ไม่ถึงกับอยู่ในภาวะหดตัวดังเช่นที่หลายอุตสาหกรรมต้องประสบ

§ ตลาดเครื่องลูกข่าย ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับตลาดบริการ แต่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าเนื่องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างหนึ่ง ทำให้ในภาวะเช่นนี้ผู้บริโภคอาจชะลอการเปลี่ยนเครื่องใหม่ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับลดราคาจำหน่ายของผู้ประกอบการเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีการซื้อเครื่องใหม่เพื่อนำไปใช้เป็นโทรศัพท์เครื่องที่สองมากขึ้น สอดคล้องกับการทำโปรโมชั่นแข่งขันด้านราคาของผู้ให้บริการเครือข่าย สำหรับภาวะการแข่งขันในตลาดล่างนั้นการแข่งขันด้านราคาจะอยู่ในระดับสูง

โดยเฉพาะโทรศัพท์เฮาส์แบนด์ที่มีฟังก์ชั่นสูง แต่ราคาจำหน่ายต่อเครื่องค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดระหว่างเฮาส์แบนด์และอินเตอร์แบนด์อาจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ต่อ 70 ในส่วนของตลาดบนแม้สงครามราคาอาจไม่รุนแรงเท่าตลาดล่าง แต่ราคาจำหน่ายต่อเครื่องก็มีแนวโน้มลดลง ขณะเดียวกันการแข่งขันด้านการออกแบบและฟังก์ชั่นยังเป็นตัวแปรสำคัญ โดยเฉพาะการใช้งานแบบทัชสกรีนและรองรับระบบ 3G ซึ่งน่าจะเป็นรูปแบบการใช้งานหลักของโทรศัพท์ที่จะออกมาใหม่ในปีนี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจำนวนโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหม่ในปี 2552 จะมีประมาณ 8.8-9 ล้านเครื่อง ใกล้เคียงหรือลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่มีประมาณ 9 ล้านเครื่อง แต่มูลค่าตลาดจะปรับลดลงโดยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 30,000-31,500 ล้านบาท หดตัวประมาณร้อยละ 10-15 จากปีก่อนที่มีมูลค่าประมาณ 35,000 ล้านบาท หดตัวประมาณร้อยละ 5

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม