Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 มีนาคม 2552

เกษตรกรรม

แนวโน้มราคาข้าวปี 52 : ยังมีหลากปัจจัยที่ต้องพิจารณา (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2451)

คะแนนเฉลี่ย

สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยมีแนวโน้มชะลอตัวติดต่อกัน 5 เดือน โดยปริมาณการส่งออกข้าวมีแนวโน้มชะลอตัวมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 จนกระทั่งถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ประเด็นที่น่าสนใจคือ ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก โดยมีสัดส่วนตลาดประมาณร้อยละ 30.0 ดังนั้นการที่ปริมาณข้าวส่งออกของไทยลดลงถึงเกือบร้อยละ 40.0 แล้ว สาเหตุใดที่ราคาข้าวในตลาดโลกยังไม่ได้รับผลกระทบ และราคาข้าวในตลาดโลกยังคงดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง

การส่งออกข้าวของไทยชะลอตัว เนื่องจากปัจจัยกดดันทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยปัจจัยกดดันในประเทศคือ การกำหนดราคารับจำนำข้าวนาปีในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ทำให้ผู้ส่งออกข้าวไทยเสียเปรียบในการแข่งขันในตลาดโลก ส่วนปัจจัยกดดันจากภายนอกประเทศ คือ ประเทศคู่ค้าข้าวของไทยหันไปซื้อข้าวราคาถูกจากเวียดนาม รวมทั้งแหล่งผลิตข้าวใหม่คือ พม่าและกัมพูชา ซึ่งปริมาณการผลิตข้าวของทั้งสองประเทศในปีนี้เพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ ประเทศผู้ผลิตและผู้นำเข้าข้าวหันไปขยายพื้นที่ปลูกข้าวเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ ทำให้การค้าข้าวในตลาดโลกลดลง

แนวโน้มราคาข้าวในช่วงที่เหลือของปี 2552 ยังมีปัจจัยที่ต้องพิจารณา คือ ระยะเวลาและราคาที่ประเทศผู้นำเข้าข้าวพิจารณาเพื่อกลับเข้ามาซื้อข้าวในตลาดอีกครั้ง หลังจากที่สต็อกเริ่มลดลง หรือเมื่อผู้นำเข้ามองว่าราคาข้าวในตลาดโลกใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะส่งผลต่อราคาข้าวในช่วงที่เหลือของปี 2552 คือ ปริมาณผลผลิตข้าวนาปรัง ผลกระทบของสภาพอากาศต่อปริมาณผลผลิตข้าว ไม่ว่าจะเป็นภาวะภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วงหรือน้ำท่วม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงนโยบายข้าวของประเทศผู้ผลิตข้าวสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการกลับเข้าตลาดของอินเดีย รวมทั้ง การชะลอการส่งออกข้าวของเวียดนาม และการกำหนดราคารับจำนำข้าวนาปรังของไทย ตลอดจนการระบายสต็อกข้าวของไทย

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวในช่วงระยะสั้น หรือตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งนับเป็นปัจจัยที่ยังกดดันราคาข้าวในช่วงที่เหลือของปีนี้ เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยบวกและปัจจัยลบประกอบด้วยแล้ว ปัจจัยที่มีโอกาสสร้างความผันผวนให้กับราคาข้าวในช่วงที่เหลือของปีนี้คือ สภาพความผันผวนของสภาพอากาศและความกังวลถึงความมั่นคงทางด้านอาหารของแต่ละประเทศ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม