Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 มีนาคม 2552

การค้า

FTA อาเซียน-อียูชะงัก...ขณะที่การส่งออกไทยหดตัวจากภาวะถดถอยของยุโรป (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2468)

คะแนนเฉลี่ย

การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป (FTA อาเซียน-อียู) ต้องยุติลงชั่วคราว หลังการประชุมคณะกรรมการร่วมจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรปครั้งที่ 7 เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2552 ที่มาเลเซีย ไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับข้อเสนอของสหภาพยุโรปที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการเจรจาจากระดับภูมิภาคต่อภูมิภาคไปเป็นระดับทวิภาคีในกรอบ FTA อาเซียน-อียูระหว่างสหภาพยุโรปกับสมาชิกอาเซียนเดิมคือ สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไนรวมถึงเวียดนามเพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้โดยเร็วก่อนที่จะขยายขอบเขตออกไปยังสมาชิกที่เหลือ ที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความหลากหลายของพัฒนาการทางกฎหมายทำให้อาเซียนเดิม กับกลุ่มประเทศ CLMV ประกอบด้วยกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม มีความต้องการเปิดตลาดสินค้า บริการและการลงทุนแตกต่างกันและเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การเจรจาไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

การหยุดพักการเจรจา FTA อาเซียน-อียู ลงชั่วคราวเพื่อรอการตัดสินใจจากเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ร่วมหารือกันในเรื่องรูปแบบของการเจรจาในคราวการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนราวต้นเดือนพฤษภาคม 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป (FTA อาเซียน-อียู) ที่ต้องยุติลงชั่วคราวอาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยโดยรวมในปี 2552 ที่มีแนวโน้มหดตัวลงร้อยละ 13.5-20.0 เพราะกระบวนการเจรจา FTA จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจนกว่าจะเสร็จสิ้นซึ่งอาจจะไม่ทันท่วงทีที่จะช่วยกระตุ้นการส่งออกท่ามกลางกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายได้ แม้ว่าไทยจะกระตุ้นการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับสองของไทยรองจากอาเซียนโดยเน้นการส่งออกสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตรวมถึงสินค้าที่มีราคาต่ำเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในสหภาพยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอ

แต่วิกฤตเศรษฐกิจที่คุกคามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหภาพยุโรปจนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้หดตัวลงอย่างหนักถึงร้อยละ 28.2 (yoy) ลดลงจากปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 19.4 (yoy)

แม้ว่าสินค้าไทยกว่า 7,000 รายการเช่น เครื่องปรับอากาศ กุ้งแปรรูปและปลาหมึกแช่เย็นแช่แข็ง จะได้รับสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรปที่เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นมา แต่การส่งออกของไทยส่วนใหญ่ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ตามกำลังซื้อของผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ยังคงซบเซาอย่างหนัก นอกจากนี้การเจรจา FTA อาเซียน-อียูที่ล่าช้าออกไปอาจจะไม่ทันท่วงทีที่จะช่วยต้านทานกระแสกีดกันทางการค้าของสหภาพยุโรปที่กำลังสร้างความท้าทายให้กับผู้ส่งออกของไทยได้ในขณะนี้

เนื่องจากสหภาพยุโรปทยอยประกาศมาตรการและกฎระเบียบทางการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตรการด้านสุขอนามัยคน พืชและสัตว์ และมาตรการสิ่งแวดล้อมที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญค่อนข้างมาก คาดว่าการส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรปในปีนี้คงต้องเผชิญกับความท้าทายจากทั้งความต้องการของตลาดที่ชะลอตัวลงอย่างหนักและอุปสรรคทางการค้าจากมาตรการต่างๆ ของสหภาพยุโรปที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันทำให้ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างไทยต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า