Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 เมษายน 2552

การค้า

การส่งออกเดือนมีนาคมหดตัว 23.1% … แนวโน้มต้องจับตาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2484)

คะแนนเฉลี่ย

ากการรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยล่าสุดโดยกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 21 เมษายน 2552 การส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2552 มีมูลค่า 11,555.6 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงร้อยละ 23.1 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แม้โดยภาพรวมแล้วหดตัวสูงขึ้นกว่าในเดือนกุมภาพันธ์ ที่การส่งออกโดยรวมหดตัวร้อยละ 11.3 แต่การส่งออกที่ไม่รวมผลของการส่งออกทองคำในเดือนมีนาคมหดตัวร้อยละ 24.5 ใกล้เคียงกับในเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งหดตัวร้อยละ 24.6 ซึ่งก็อาจเป็นสัญญาณที่ดีว่าการส่งออกเริ่มทรงตัวขึ้น

สำหรับในด้านการนำเข้าในเดือนนี้มีมูลค่า 9,454.9 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงร้อยละ 35.1 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 40.3 และจากผลของการนำเข้าที่ยังคงหดตัวลงมากกว่าการส่งออกนี้ จึงทำให้ดุลการค้ายังเกินดุล 2,100.7 ล้านดอลลาร์ฯ แต่เป็นการเกินดุลลดลงจากเดือนก่อนซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 3,577 ล้านดอลลาร์ฯ สำหรับภาพรวมในช่วงไตรมาสที่ 1/2552 การส่งออกหดตัวลงร้อยละ 20.6 ขณะที่การนำเข้าหดตัวร้อยละ 37.6 ดุลการค้าเกินดุลสูงถึง 7,054.7 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่ขาดดุล 812 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2551

เมื่อวิเคราะห์รายการสินค้าที่สำคัญ พบว่า สินค้าส่งออกรายการสำคัญส่วนใหญ่ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว และยางพารายังหดตัวสูง ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วนและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปยังคงหดตัวสูงต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นสัญญาณล่วงหน้าว่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรมหลักๆ ยังคงไม่ฟื้นตัว

สำหรับปัจจัยที่จะมีผลต่อการส่งออกในช่วงเดือนต่อๆ ไป ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะจีนและสหรัฐฯ ซึ่งมีสัญญาณบ่งชี้ถึงการปรับตัวดีขึ้น โดยเศรษฐกิจจีนอาจจะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 2/2552 นี้ สำหรับสหรัฐฯ เครื่องชี้หลายรายการที่ออกมาตอกย้ำภาพบวกอย่างต่อเนื่องทำให้หลายฝ่ายมองว่าสหรัฐฯ ได้ก้าวผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดของวัฏจักรเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้มาแล้ว อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวอย่างแท้จริงอาจยังต้องใช้ระยะเวลา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นนี้ยังคงไม่ส่งผลบวกในทันทีต่อการส่งออกของไทยในไตรมาสที่ 2/2552 เนื่องจากภาคเศรษฐกิจของจีนที่กระเตื้องขึ้นส่วนใหญ่เป็นอุปสงค์ภายในประเทศในด้านการบริโภคและการลงทุน ซึ่งโครงสร้างการส่งออกของไทยไปยังจีนมีสัดส่วนสินค้ากลุ่มที่จะได้ประโยชน์นี้ไม่มากนัก ไม่ถึงร้อยละ 25 ของการส่งออกของไทยไปจีน และคิดเป็นเพียงร้อยละ 2 ของการส่งออกโดยรวมของไทย

อย่างไรก็ตาม ถ้าสัญญาณการฟื้นตัวของจีนมีความต่อเนื่อง รวมทั้งถ้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทั้งจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น จะส่งผลชัดเจนให้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเหล่านี้ฟื้นตัวขึ้นได้อย่างมั่นคงในครึ่งหลังของปี ก็คาดหวังได้ว่าปัจจัยดังกล่าวจะเริ่มมีผลสนับสนุนให้การส่งออกของไทยค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นตามมาในช่วงครึ่งปีหลัง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการส่งออกของไทยจะยังหดตัวในระดับที่สูงต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 2/2552 ส่งผลให้การส่งออกในครึ่งปีแรกอาจจะหดตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 23 ขณะที่แนวโน้มในครึ่งปีหลังยังคงขึ้นอยู่กับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคหลักของโลก ขณะเดียวกัน การส่งออกยังมีความเสี่ยงทางอ้อมจากปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศ โดยถ้าหากในระยะต่อจากนี้ยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจนำไปสู่การหยุดชะงักของกิจกรรมการผลิตและการขนส่ง ผู้นำเข้าในต่างประเทศที่กังวลต่อความเสี่ยงจากการที่ผู้ส่งออกไทยจะไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ตรงตามเวลา อาจกระจายคำสั่งซื้อหรือลดคำสั่งซื้อจากไทยได้

ทั้งนี้ จากทิศทางการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีแรกที่มีแนวโน้มหดตัวสูง และแม้คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักอาจจะค่อยๆ ผ่านพ้นจากภาวะถดถอยในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ความไม่แน่นอนยังคงมีอยู่ อีกทั้งการขยายตัวของประเทศต่างๆ จะยังคงต่ำกว่าระดับศักยภาพต่อเนื่องไปจนถึงปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคาดว่าแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2552 อาจจะลดลงประมาณร้อยละ 16.5-20.0 จากปีก่อนหน้า

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า