Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 เมษายน 2552

การค้า

เร่งรัดอาเซียน+3 & อาเซียน+ 6 ... ฟื้นความเชื่อมั่น & บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2491)

คะแนนเฉลี่ย

การยกเลิกการประชุมสุดยอดอาเซียนกับคู่เจรจาทั้งในกรอบอาเซียน+1 (เจรจารายประเทศกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และอินเดีย) อาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้) และอาเซียน+6 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอินเดีย) ที่พัทยา เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา นอกจากจะส่งผลให้วาระการประชุมที่บรรดาผู้นำจะหารือและลงนามร่วมกันต้องเลื่อนออกไปแล้ว ยังบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างหนักอีกด้วย โดยไทยมีกำหนดจะจัดการประชุมอีกครั้งที่จังหวัดภูเก็ต ในเดือนมิถุนายน 2552 หรือในกรณีที่ไม่สามารถจัดการประชุมได้อย่างช้าที่สุดอาจจะลงนามได้ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 41 ในเดือนสิงหาคม 2552

ความล่าช้าจากการเลื่อนเวลาที่บรรดาผู้นำจะได้ร่วมหารือและลงนามในความตกลงฯ ทางเศรษฐกิจออกไป อาจจะลดโอกาสทางการค้าการลงทุนของไทยที่มีกับสมาชิกอื่นอีก 15 ชาติและกระทบต่อทิศทางทางเศรษฐกิจของไทยในระยะสั้น เนื่องจากไทยจะสูญเสียโอกาสด้านการส่งออกจากความล่าช้าในการหารือด้านการเปิดตลาดและลดอุปสรรคทางการค้า รวมถึงการสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยเฉพาะการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการชั่วคราวของระบบสำรองข้าวฉุกเฉินซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อไทยที่เป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก

นอกจากนี้ไทยยังสูญเสียโอกาสที่จะดึงดูดการลงทุนจากจีน แม้ว่าจีนจะสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับแรกในภูมิภาคก็ตาม คาดว่านักลงทุนจีนอาจจะเลื่อนการลงทุนในไทยออกไปก่อนจนกว่าเหตุการณ์ทางการเมืองของไทยจะเป็นปกติ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากความตกลงด้านการลงทุนที่จะอำนวยความสะดวกและคุ้มครองการลงทุนของจีนในประเทศไทยต้องล่าช้าออกไป

การยกเลิกการประชุมจากเหตุความวุ่นวายทางการเมืองไม่เพียงแต่จะกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยอันเนื่องจากการชะลอตัวของภาคการส่งออก ลงทุนและการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่อาจจะส่งผลผลกระทบต่อเนื่องไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีภาวะพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวและการลงทุนกับประเทศไทยสูงโดยเฉพาะลาวและกัมพูชา ทั้งนี้ประเทศเพื่อนบ้านของไทยนับเป็นตลาดส่งออกใหม่ที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้ผู้ประกอบการเปิดแนวรุกด้านการค้าการลงทุนกับตลาดเหล่านี้มากขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยสามารถรอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ไปได้

ดังนั้นหากประเทศเพื่อนบ้านได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย นั่นหมายความว่า ผู้ส่งออกและผู้ผลิตไทยก็จะได้รับผลกระทบการภาวะการชะลอตัวลงของประเทศเพื่อนบ้านเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม หากไทยสามารถจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนได้อย่างรวดเร็วและเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเพื่อให้ผู้นำ 16 ชาติได้ร่วมหารือและลงนามได้อย่างพร้อมเพียงน่าจะช่วยลดค่าเสียโอกาสจากความล่าช้าของการออกมาตรการและบังคับใช้ความตกลงที่จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าการลงทุนภายใต้ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า