Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 พฤษภาคม 2552

การค้า

สหรัฐฯ คงสถานะ Priority Watch List (PWL) ไทย : ผลต่อการส่งออกของไทย (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2498)

คะแนนเฉลี่ย

การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการพิจารณาให้สิทธิพิเศษจีเอสพี (GSP) ของสหรัฐฯ โดยในปีนี้ สหรัฐฯ คงอันดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยให้อยู่ในสถานะจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List : PWL) ภายใต้กฎหมายมาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ซึ่งถือเป็นระดับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่รุนแรงมากเป็นอันดับที่ 2 แม้ว่าการจัดอันดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการให้สิทธิพิเศษจีเอสพีที่สหรัฐฯ ให้กับสินค้าส่งออกของไทย สะท้อนจากปี 2550 ที่สหรัฐฯ ปรับลดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยเป็น PWL จากเดิมที่อยู่ระดับจับตามอง (WL) แต่สหรัฐฯ ยังคงให้สิทธิจีเอสพีกับสินค้าส่งออกของไทยหลายรายการในปีดังกล่าว แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในภาวะถดถอย ทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่สหรัฐฯ จะใช้ประเด็นด้านการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นมาตรการปกป้องการค้าเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจภายใน โดยอาจส่งผลต่อการพิจารณาทบทวนการให้สิทธิ จีเอสพีในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบซ้ำเติมการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ที่หดตัวอยู่แล้วในปีนี้

ในช่วง 3 ที่ผ่านมา การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ภายใต้สิทธิจีเอสพีมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง จากสัดส่วนร้อยละ 22 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 17 ในปี 2551 สาเหตุสำคัญเนื่องจากสินค้าส่งออกสำคัญของไทย 3 รายการ ได้แก่ เครื่องประดับทำจากโลหะมีค่า เครื่องรับโทรทัศน์สี และเม็ดพลาสติก ถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิจีเอสพี ตั้งแต่ปี 2550 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า สิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯ เป็นการให้ฝ่ายเดียวและมีความไม่แน่นอน เนื่องจากสหรัฐฯ อาจเปลี่ยนกฎเกณฑ์การให้สิทธิจีเอสพีกับประเทศต่างๆ และหลักเกณฑ์การทบทวนการให้สิทธิจีเอสพีประจำปี ประโยชน์ที่ได้จากสิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯ ในระยะยาวจึงอาจหมดไป การเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของสินค้าส่งออกของไทยในสหรัฐฯ จึงควรต้องพิจารณาการเสริมศักยภาพการแข่งขันด้วยปัจจัยด้านอื่นๆ เช่น การพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้มีต้นทุนต่ำลง การพัฒนาสินค้าและการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น การคำนึงถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อม และการสร้างเอกลักษณ์สินค้าด้วยรูปแบบและดีไซน์

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อยู่ในภาวะถดถอย ทำให้อุปสงค์ในตลาดสหรัฐฯ อ่อนแรง สินค้าราคาต่ำกว่าจึงน่าจะมีน้ำหนักต่อการตัดสินใจของผู้นำเข้าและผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่มีกำลังซื้อต่ำลง ส่งผลให้การแข่งขันด้านราคาในตลาดสหรัฐฯ มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น การได้รับสิทธิพิเศษจีเอสพีจึงมีความสำคัญมากขึ้นต่อสินค้าส่งออกของไทยในสหรัฐฯ ในสถานการณ์ปัจจุบัน หากการยื่นขอผ่อนผันไม่ให้ระงับสิทธิจีเอสพีของไทยในสินค้า 9 รายการและการขอคืนสิทธิจีเอสพีสำหรับสินค้าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ จำนวน 3 รายการ ได้รับการอนุมัติจากสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคมนี้ คาดว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านราคาให้กับสินค้าส่งออกของไทยเหล่านี้ในตลาดสหรัฐฯ ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ทางการไทยอยู่ระหว่างปรับปรุงกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการเพิ่มบทลงโทษกับผู้ซื้อและผู้ประกอบการที่จำหน่ายของละเมิดทรัพย์สินปัญญา คาดว่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาปรับปรุงระบบการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของไทยในระยะยาว และยังจะเป็นปัจจัยบวกที่แสดงถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งน่าจะช่วยลดความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะใช้ประเด็นด้านการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นมาตรการทางการค้าที่ตัดสิทธิจีเอสพีกับสินค้าส่งออกไทยซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมภาวะหดตัวของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ที่ประสบอยู่แล้วในปัจจุบันให้รุนแรงมากขึ้น

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า