Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 พฤษภาคม 2552

การค้า

การส่งออกเดือนเมษายนหดตัว 26.1% แต่แนวโน้มมีโอกาสปรับตัวดีขึ้น (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2510)

คะแนนเฉลี่ย

การส่งออกของไทยในเดือนเมษายน 2552 หดตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 26.1 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่า 10,429 ล้านดอลลาร์ฯ เป็นอัตราติดลบที่สูงขึ้นกว่าในเดือนมีนาคมที่หดตัวร้อยละ 23.1 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในเดือนเดียวกันของปีก่อน สำหรับในด้านการนำเข้ามีมูลค่า 9,834 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงร้อยละ 36.3 ซึ่งก็เป็นอัตราที่สูงขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 35.1 อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมที่มีมูลค่า 9,455 และเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม มูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในขณะที่การส่งออกมีมูลค่าลดลงส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 595 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 2,101 ล้านดอลลาร์ฯ สำหรับภาพรวมในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2552 การส่งออกหดตัวลงร้อยละ 21.9 ขณะที่การนำเข้าหดตัวร้อยละ 37.3 ดุลการค้าเกินดุลสูงถึง 7,650 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่ขาดดุล 812 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2551

แม้ว่าสินค้าส่งออกรายการสำคัญส่วนใหญ่ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว ยางพาราอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ไม่รวมทองคำ หดตัวสูงอย่างต่อเนื่อง แต่สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอสิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า ติดลบในอัตราที่ชะลอลง สำหรับสินค้าที่ขยายตัวเป็นบวก ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารสัตว์เลี้ยง เคมีภัณฑ์ หนังสือและสิ่งพิมพ์ ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ในด้านตลาดส่งออก พบว่าตลาดหลักลดลงในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดใหม่หลายแห่งมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนติดลบในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกไปยังจีน ทำให้ตลาดจีนขึ้นมาเป็นตลาดที่มีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับ 1 แซงหน้าสหรัฐฯ และญี่ปุ่นในเดือนนี้

แม้ว่าการส่งออกในเดือนล่าสุดยังคงหดตัวสูง แต่ก็มีสัญญาณของแนวโน้มที่ดีขึ้นในระยะข้างหน้า เช่น สัญญาณการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่ปรับตัวดีขึ้นทั้งในด้านมูลค่าที่เพิ่มขึ้น และอัตราการติดลบที่ชะลอลง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชี้แนวโน้มการผลิตและส่งออกที่น่าจะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า และเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับเสียงสะท้อนของผู้ประกอบการถึงสัญญาณดีจากบางอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งระดับสต็อกของคู่ค้าที่ลดลงจากการตัดลดการผลิตอย่างรุนแรงในระยะที่ผ่านมา

โดยรวมแล้ว แม้ว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณของความมีเสถียรภาพมากขึ้น และภูมิภาคต่างๆ น่าจะผ่านพ้นช่วงเลวร้ายที่สุดของภาวะถดถอยมาแล้ว แต่สภาวะในขณะนี้น่าจะเป็นการทรงตัวในจุดที่ต่ำ หรือยังอยู่ในบริเวณก้นบึ้งของการถดถอยในรูปตัว U (U-Shaped Recession) ขณะที่การฟื้นตัวชัดเจนน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี แต่จะช้าหรือเร็วเพียงใดนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ คือ ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่จะเริ่มนำไปสู่การจ้างงานเพิ่มขึ้น การปรับขึ้นของราคาน้ำมันต้องไม่เร่งตัวจนเกินปัจจัยพื้นฐานของอุปสงค์ที่แท้จริง และโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อยู่ในสภาวะที่สามารถควบคุมได้

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในระยะต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าการส่งออกน่าจะมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับในช่วงเดือนต่อๆ ไป แต่อัตราการขยายตัวของการส่งออกในระยะ 2-3 เดือนจากนี้อาจยังติดลบใกล้เคียงกับในเดือนเมษายน เนื่องจากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในระยะเดียวกันของปีก่อน สำหรับภาพรวมการส่งออกของไทยตลอดทั้งปีในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวลงประมาณร้อยละ 14.5-19.0 จากปีก่อน โดยในช่วงครึ่งปีแรก การส่งออกน่าจะหดตัวโดยเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 20 และถ้าเศรษฐกิจโลกค่อยๆ ฟื้นตัวได้อย่างมีเสถียรภาพก็น่าสนับสนุนให้การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น นอกเหนือจากปัจจัยในต่างประเทศแล้ว บทบาทของทางการก็นับเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะในประเด็นการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออก ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกในด้านการสนับสนุนสภาพคล่องและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งมาตรการด้านโลจิสติกส์ที่จะมีการลดค่าธรรมเนียมในขั้นตอนต่างๆ ของการส่งออก นับเป็นแนวทางที่ดีที่น่าจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องและลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกของไทยได้ไม่น้อย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า