Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 พฤษภาคม 2552

การค้า

สัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้....ช่วยกระตุ้นภาคส่งออกไทยไปเกาหลีใต้ (มองเศรษฐกิจฉบับที่ 2504)

คะแนนเฉลี่ย

กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 ส่งสัญญาณบ่งชี้ถึงการปรับตัวที่ดีขึ้น โดยในไตรมาสที่ 1/ 2552 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเกาหลีใต้ (จีดีพี) ขยายตัวร้อยละ 0.1 (q-o-q) เทียบกับในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา ที่ลดลงร้อยละ 5.1 (q-o-q) ขณะที่การส่งออกในเดือนเมษายน 2552 ปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราติดลบชะลอลงเหลือร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับที่ติดลบร้อยละ 22 ในเดือนมีนาคม 2552 ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน ดัชนีความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนปรับขึ้นสูงระดับ 98 จุด จากเดิมในระดับ 84 จุดในเดือนมีนาคม การที่ระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ปรับตัวดีขึ้นนี้อาจเป็นการบ่งชี้ถึงเศรษฐกิจเกาหลีใต้ที่ถึงจุดต่ำสุดแล้วและมีสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยหลังจากรัฐบาลเกาหลีใต้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ รวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 6 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมา จนลดลงเหลือร้อยละ 2 ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อรับมือกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ ยังพบว่า ภาคการผลิตในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มีการปรับตัวดีขึ้น ติดลบลดลงเหลือร้อยละ 3.2 (q-o-q) สอดคล้องกับอัตราการขยายตัวของสาธาณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8 (q-o-q) เทียบกับในไตรมาสที่ 4/2551 ที่ลดลงร้อยละ 1.6 ขณะเดียวกันภาคก่อสร้างมีอัตราการเติบโตร้อยละ 6.1 (q-o-q) ด้านภาคบริการและการบริโภคของเอกชนขยายตัวเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 (q-o-q) และร้อยละ 0.4 (q-o-q) ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบเศรษฐกิจเกาหลีใต้กับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 เศรษฐกิจเกาหลีใต้หดตัวลงร้อยละ 4.3 (y-o-y) เนื่องจากภาคส่งออกที่ยังคงทรุดตัวในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่องที่กดดันให้อุปสงค์ในตลาดต่างประเทศลดลง ขณะที่อัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้นเป็นร้อยละ 4 ในเดือนมีนาคม

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกและสัญญาณปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทย-เกาหลีใต้ในปี 2552 โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 มูลค่าการค้ารวมของไทยกับเกาหลีใต้ ลดลงกว่าร้อยละ 23 มีมูลค่าการค้าทั้งสิ้น 1,838.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ โดยการส่งออกมีมูลค่าทั้งสิ้น 613.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ลดลงเกือบร้อยละ 25 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ในขณะเดียวกันมูลค่าการนำเข้าลดลงเช่นกันที่ร้อยละ 22.67 มูลค่าการนำเข้ารวม 1,225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ โดยการค้าไทย-เกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 1/2552 ไทยยังคงเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับเกาหลีใต้ มูลค่า 611.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ จากเดิม 770.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2551 แต่มูลค่าขาดดุลมีอัตราชะลอลงร้อยละ 20.69 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ยังมีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551

อย่างไรก็ตาม น้ำมันดิบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร ซึ่งมีการขยายตัวดีขึ้น รวมถึงสินค้าส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้บางรายการมีอัตราติดลบชะลอลง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สะท้อนถึงภาคการผลิตในเกาหลีใต้ที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ขณะที่สินค้านำเข้าของไทยจากเกาหลีใต้ที่หดตัวลงในช่วงเดียวกันส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินค้านำเข้าวัตถุดิบ/ขั้นกลาง อย่างไรก็ตาม ไทยนำเข้าสินค้าบางรายการจากเกาหลีใต้ขยายตัวเร่งขึ้น อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ และสิ่งพิมพ์ สะท้อนถึงความต้องการผลิตในไทยที่ปรับตัวดีขึ้น

ส่วนแนวโน้มการค้าไทย-เกาหลีใต้ในปี 2552 นั้น คาดว่า น่าจะชะลอตัวจากปี 2551 เนื่องจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงบั่นทอนความต้องการของตลาดต่างประเทศให้ซบเซา ส่งผลให้ภาคส่งออกและภาคการผลิตของประเทศเกาหลีใต้ชะลอลงและทำให้ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทยและเกาหลีใต้ตามไปด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สะท้อนถึงแนวโน้มการค้าไทย-เกาหลีใต้ว่า อาจจะยังคงติดลบต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

อย่างไรก็ตาม ทิศทางเศรษฐกิจเกาหลีใต้ที่ปรับตัวดีขึ้นน่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่คงต้องจับตาสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจของโลกที่เป็นหัวจักรขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐ ฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน และสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้อย่างใกล้ชิด ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจเกาหลีใต้ที่ชัดเจนขึ้น ก็อาจส่งผลกระตุ้นให้การค้าระหว่างไทย-เกาหลีใต้ฟื้นตัวอย่างมั่นคงมากขึ้น โดยมีอัตราติดลบชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 โดยหากเศรษฐกิจเกาหลีใต้เริ่มฟื้นตัวขึ้นได้ชัดเจนแล้ว คาดว่าการส่งออกของไทยที่จะขยายตัวได้ดีคือ แผงวงจรไฟฟ้า ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า