จากตัวเลขการพยากรณ์ของสมาคมเหล็กโลกเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งคาดว่าปริมาณการใช้เหล็กโลกในปี 2552 จะหดตัวลงถึงร้อยละ 14.9 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีแรกนี้ แสดงถึงทิศทางการแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้น โดยเฉพาะตลาดส่งออก ทำให้หลายประเทศจำเป็นต้องหันมาพึ่งมาตรการต่างๆเพื่อกีดกันการนำเข้าและปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ การส่งออกเหล็กสำเร็จรูปจากไทยจึงอาจจะได้รับผลกระทบทั้งจากภาวะอุปสงค์ที่หดตัวสูง และมาตรการกีดกันการค้าต่างๆอย่างไม่อาจเลี่ยง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อผู้ส่งออกเหล็กไทยจากการแข่งขันในตลาดส่งออกเหล็กปี 2552 ที่รุนแรงขึ้นโดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
ในสภาวะที่มีอุปทานส่วนเกินในตลาดสูงเช่นนี้ ผู้ส่งออกหรือรัฐบาลประเทศนั้นๆมักใช้กลยุทธ์ด้านราคาเป็นแนวทางหลักในการเพิ่มยอดขายของตน โดยเฉพาะรัฐบาลจีนซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ได้ประกาศเพิ่มอัตราส่วนคืนภาษีส่งออกของจีน (Export Rebate) ในสินค้าเหล็กหลายรายการเพื่อช่วยเหลือกิจการส่งออก จากการได้รับประโยชน์ด้านราคาจากอัตราส่วนคืนภาษีส่งออกดังกล่าวทำให้ปริมาณโลหะที่ซื้อขายในตลาดส่งออกมีโอกาสที่จะเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ประเทศผู้ส่งออกเหล็กรายใหญ่อย่างรัสเซีย ยูเครน และเกาหลีใต้เองต่างก็พากันตัดราคาลงด้วยเพื่อกระตุ้นการส่งออกเช่นกัน จึงเป็นเหตุให้หลายประเทศมองหาแนวทางที่จะปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศของตน ซึ่งแนวทางหนึ่งที่ทำได้คือการใช้มาตรการกีดกันการค้าในรูปแบบต่างๆ เช่น เวียดนามได้ตัดสินใจขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กสำหรับประเทศนอกภูมิภาคอาเซียน
ส่วนอินเดียก็ได้ออกภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดซึ่งจะเก็บจากเหล็กกล้าไร้สนิมรีดเย็นที่นำเข้าจาก 14 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยเป็นเวลา 6 เดือน นอกจากนี้นิวซีแลนด์อาจต่ออายุภาษีต่อต้านทุ่มตลาดที่เคยเรียกเก็บไปก่อนหน้านี้จากเหล็กเส้นก่อสร้างเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ถึง 40 มิลลิเมตร ที่นำเข้าจากไทยอีกด้วย แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ตลาดเหล็กในต่างประเทศที่มีทิศทางการแข่งขันกันสูงมากยิ่งขึ้น
ทว่าท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นนี้ยังพบว่าการส่งออกเหล็กไทยในปีนี้น่าจะเป็นโอกาสสำหรับสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้าโดยเฉพาะโครงก่อสร้างทำด้วยเหล็กซึ่งมีการขยายตัวสูงมากในประเทศส่งออกของไทยส่วนใหญ่ นอกจากนี้การส่งออกท่อเหล็กแม้ตลาดรวมจะขยายตัวไม่มาก แต่ประเทศนำเข้าจากไทยส่วนใหญ่ก็มีทิศทางขยายตัวเช่นกัน โดยการส่งออกไปยังตลาดประเทศกำลังพัฒนาอย่างบางประเทศในตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออก แอฟริกา และเอเชียนั้น คาดว่าจะยังคงเป็นแนวทางหลักในการทำตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้าได้ต่อไป เนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศเหล่านี้ยังคงมีการขยายตัวอยู่บ้าง
อย่างไรก็ตามตลาดส่งออกเหล็กไทยยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น เช่น แนวโน้มอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้นจากมาตรการลงทุนด้านสาธารณูปโภคต่างๆของรัฐบาลแต่ละประเทศเพื่อให้เกิดการลงทุนและการใช้จ่ายในประเทศ รวมถึงการที่ไทยไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีเวียดนามประกาศขึ้นภาษีศุลกากรสำหรับเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศ ทว่าอุปสรรคทางการค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมาตรการกีดกันการค้าโดยเฉพาะจากอินเดียรวมถึงการที่อุปสงค์ในตลาดโลกลดลงจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวอยู่ในขณะนี้ ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเนื่องจากจะมีผลต่อทิศทางการส่งออกไทยในระยะต่อไป
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น